สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 06 October 2021 00:49
- Hits: 9171
สรุปมติการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอดังนี้
1. รับทราบสรุปมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564
2. เห็นชอบมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG)1 ภายใต้ความตกลงการเกษตรขององค์การการค้าโลก (WTO) และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (AFTA) สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2564
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชรายงานว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติสรุปได้ ดังนี้
1. การบริหารการนำเข้ามะพร้าว พิกัดอัตราศุลกากร 0801.12.002 พิกัดอัตราศุลกากร 0801.19.102 และพิกัดอัตราศุลกากร 0801.19.902 ตามกรอบความตกลง AFTA ปี 2564 ช่วงที่สอง (เดือนกันยายน - ธันวาคม 2564)3
1.1 เห็นชอบการบริหารการนำเข้ามะพร้าวโดยใช้ผลการรับซื้อผลผลิตมะพร้าวในประเทศของผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวที่มีคุณสมบัติและเป็นผู้มีสิทธินำเข้า ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม - 6 สิงหาคม 2564 มาพิจารณาจัดสรรปริมาณนำเข้าให้แก่ผู้มีสิทธินำเข้าในอัตรา 1 : 2.5 (นำเข้า 1 ส่วน ต่อการรับซื้อมะพร้าวในประเทศ 2.5 ส่วน)
1.2 เห็นชอบการจัดสรรปริมาณการนำเข้ามะพร้าวให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวที่มีคุณสมบัติและเป็นผู้มีสิทธินำเข้า จำนวน 15 ราย ปริมาณรวม 78,477 ตัน ทั้งนี้ การนำเข้าต้องเป็นไปตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศ
1.3 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชแจ้งรายชื่อผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวที่มีคุณสมบัติและเป็นผู้มีสิทธินำเข้ามะพร้าว จำนวน 15 ราย ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. มาตรการ SSG ภายใต้ความตกลงการเกษตรของ WTO และความตกลง AFTA สำหรับสินค้ามะพร้าว พิกัดอัตราศุลกากร 0801.12.00 พิกัดอัตราศุลกากร 0801.19.10 และพิกัดอัตราศุลกากร 0801.19.90 ปี 2564
2.1 เห็นชอบการใช้มาตรการ SSG ซึ่งในปี 2564 มีปริมาณ Trigger Volume 4 ที่ 311,235 ตัน (คำนวณจากปริมาณการนำเข้ามะพร้าวย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี)
2.2 เห็นชอบให้กรมศุลกากรจัดเก็บอากรสำหรับสินค้ามะพร้าวที่นำเข้ามาในประเทศไทยรวมกันเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume ในอัตราที่เพิ่มขึ้น ดังนี้
ประเภทความตกลง |
อัตราการเก็บอากรตามปกติ |
อัตราการเก็บอากร เมื่อปริมาณการนำเข้าเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume |
การนำเข้ามะพร้าวภายใต้ความตกลง WTO นอกโควตา |
ร้อยละ 54 |
ร้อยละ 72 |
การนำเข้ามะพร้าวภายใต้ความตกลง AFTA |
ร้อยละ 0 |
หมายเหตุ อัตราการเก็บอากรเมื่อปริมาณการนำเข้าเกินกว่าปริมาณ Trigger Volume เป็นอัตราเดียวกับที่กำหนดไว้เมื่อปี 2563
2.3 เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติสำหรับมาตรการ SSG ดังนี้
2.3.1 กรมศุลกากรเสนอร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การเก็บอากรศุลกากรตามมาตรการปกป้องพิเศษ ตามความตกลงการเกษตรขององค์การการค้าโลก และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน สำหรับสินค้ามะพร้าว พ.ศ. …. เพื่อกำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากรประกาศกำหนดวันเริ่มใช้มาตรการ SSG จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยให้เสียอากรในอัตราตามราคาร้อยละ 72 ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงการคลังดำเนินการยกร่างประกาศฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป)
2.3.2 กรมศุลกากรดำเนินการส่งข้อมูลการนำเข้ามะพร้าวให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรทราบเป็นรายสัปดาห์เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการแจ้งเตือนเมื่อมีการนำเข้ามะพร้าวถึงปริมาณ Trigger Volume ซึ่งหากปริมาณการนำเข้าถึงปริมาณ Trigger Volume แล้ว ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชแจ้งไปยังกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการจัดเก็บอากรในอัตราที่เพิ่มขึ้น
2.3.3 จัดส่งประกาศตามข้อ 2.3.1 รวมทั้งปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ถูกดำเนินการตามมาตรการ SSG ให้กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อแจ้ง WTO ต่อไป
2.3.4 หากนำเข้ามะพร้าวเข้ามาก่อนวันที่กำหนดให้ใช้มาตรการ SSG แต่ยังไม่ได้จัดทำใบขนสินค้าขาเข้า ให้จัดเก็บอากรในอัตราเดิมสำหรับกรณีเรือลอยลำ สินค้าที่นำเข้ามาตั้งแต่วันที่กำหนดให้เริ่มใช้มาตรการ SSG ให้ผู้นำเข้าชำระอากรในอัตราใหม่ แต่หากพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นมีการส่งออกจากท่าเรือต้นทาง และมีการทำสัญญาระหว่างผู้ส่งและผู้รับไว้ก่อนหน้าวันที่กำหนดใช้มาตรการ SSG ให้ยกเว้นการขึ้นอากรตามมาตรการ SSG และให้ผู้นำเข้าสามารถขอคืนอากรในส่วนที่ชำระเกินไว้ได้
2.4 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอมาตรการ SSG และให้กรมศุลกากรเสนอ ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การเก็บอากรศุลกากรตามมาตรการปกป้องพิเศษ ตามความตกลงการเกษตรขององค์การการค้าโลก และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน สำหรับสินค้ามะพร้าว พ.ศ. …. ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในคราวเดียวกัน
__________________
1มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) คือ มาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นภายใต้ความตกลงการเกษตรของ WTO ที่ให้สิทธิแก่ประเทศสมาชิกในการขึ้นภาษีรายการสินค้าเกษตรบางรายการ (ไทยสงวนสิทธิไว้จำนวน 23 รายการ) ซึ่งพิจารณาได้จากปริมาณการเข้ามาของสินค้าเทียบกับ Trigger Volume หรือราคาสินค้าที่นำเข้ามาต่ำกว่าราคาอ้างอิง โดยในส่วนสินค้ามะพร้าวได้เริ่มกำหนดมาตรการ SSG เป็นครั้งแรกในปี 2562 อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการใช้มาตรการดังกล่าวเนื้องจากประเมินแล้วว่าปริมาณการนำเข้ามะพร้าวตามมาตรการฯ จะไม่เกินปริมาณ Trigger Volume จึงไม่ได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลังเพื่อใช้บังคับมาตรการดังกล่าวในปี 2562
2พิกัดอัตราศุลกากร 0801.12.00 คือ มะพร้าวผลทั้งกะลา พิกัดอัตราศุลกากร 0801.19.10 คือ มะพร้าวผลอ่อน และพิกัดอัตราศุลกากร 0801.19.90 คือ มะพร้าวผลอื่นๆ
3 ช่วงเวลาให้นำเข้ามะพร้าวสำหรับผู้ที่ได้รับการจัดสรรปริมาณการนำเข้าโควตา ให้สามารถนำเข้าได้ 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 วันที่ 1มกราคม - สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ และช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 31 ธันวาคม ของแต่ละปี ทั้งนี้ ผู้มีสิทธินำเข้าต้องเป็นนิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ามะพร้าวกับกรมการค้าต่างประเทศเป็นรายปี
4 ปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรตามแนวทางในมาตรการ SSG โดยใช้ปริมาณเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หากปริมาณสินค้าที่นำเข้าเกินกว่า Trigger Volume ประเทศผู้นำเข้าจะสามารถขึ้นภาษีเพื่อชะลอปริมาณการนำเข้าได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10146
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ