แนวทางการใช้ระบบคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 06 October 2021 00:38
- Hits: 1545
แนวทางการใช้ระบบคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้
1. ให้ความเห็นชอบ
(1) กรณีการจัดตั้งคณะกรรมการ ทั้งคณะกรรมการตามกฎหมายและคณะกรรมการตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร ให้ดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย โดยเคร่งครัด
(2) กรณีการตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของคณะกรรมการ หากเป็นคณะกรรมการตามกฎหมาย มอบหมายให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายเป็นผู้ประเมินทุกปี ส่วนคณะกรรมการตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าว โดยประเมินทุกรอบระยะเวลา และหากไม่ผ่านการประเมินให้ยุบเลิกคณะกรรมการดังกล่าวเสีย
(3) ไม่ควรกำหนดให้คณะกรรมการที่จัดตั้งตามคำสั่งของฝ่ายบริหารนั้นทำงานปกติประจำ การกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลการดำเนินการของคณะกรรมการตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร ให้กำหนดตัวชี้วัดที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรม (Innovation) ตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (Sustainability) และตัวชี้วัดด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน (Better Life) ด้วย
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติต่อไป
2. ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ สคก. เสนอว่า
1. ปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายและตามคำสั่งของฝ่ายบริหารขึ้นจำนวนมาก และสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้รัฐต้องพิจารณาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารราชการ โดยเฉพาะการทำงานในระบบคณะกรรมการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งระบบคณะกรรมการมีการใช้ 2 รูปแบบ ได้แก่ คณะกรรมการตามกฎหมาย และคณะกรรมการตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร โดยการใช้ระบบคณะกรรมการนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากเป็นการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่หลากหลายของผู้ร่วมเป็นกรรมการมาปรับใช้ในการกำหนดนโยบาย หรือแก้ไขปัญหา ซึ่งเหมาะกับกรณีที่จำเป็นต้องระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หรือเพื่อให้เกิดการใช้ดุลพินิจให้เหมาะสม แต่ไม่เหมาะที่จะใช้กับการดำเนินงานที่เป็นงานในลักษณะปกติประจำ (routine) เพราะจะทำให้เกิดความล่าช้า เป็นภาระด้านงบประมาณ และอาจกำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบโดยตรงได้ยาก
2. กรณีการใช้คณะกรรมการตามกฎหมาย สคก. ได้ดำเนินการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายให้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย เรื่อง การใช้ระบบคณะกรรมการในกฎหมาย เพื่อให้เนื้อหาของ ร่างกฎหมายมีการใช้ระบบคณะกรรมการเท่าที่จำเป็น
3. กรณีการใช้คณะกรรมการตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร ยังไม่มีกฎเกณฑ์การจัดตั้งที่ชัดเจน จึงทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งของฝ่ายบริหารขึ้นเป็นจำนวนมากและทำให้เกิดความล่าช้า เป็นภาระด้านงบประมาณ และขาดผู้รับผิดชอบโดยตรง
4. การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของคณะกรรมการยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
5. ดังนั้น สคก. จึงขอเสนอแนวทางการใช้ระบบคณะกรรมการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10144
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ