การร่วมลงทุน (Venture Capital) กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 06 October 2021 00:26
- Hits: 1210
การร่วมลงทุน (Venture Capital) กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรของไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 (15) ซึ่งบัญญัติให้ ธ.ก.ส. สามารถร่วมทุนกับนิติบุคคลได้ ตามที่คณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นสมควร โดยได้รับ ความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นโยบายการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการภาคเกษตรไทยของ ธ.ก.ส. สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
วัตถุประสงค์ |
สนับสนุนด้านการเงินในลักษณะการร่วมทุนกับผู้ประกอบการภาคการเกษตรหรือที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจแต่ขาดโอกาสในการเพิ่มทุนให้มีทุนในการดำเนินกิจการระยะแรกได้ |
|
กรอบนโยบายของกิจการที่จะเข้าร่วมลงทุน |
สัดส่วนกรณีร่วมทุนไม่เกินร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นหลังการระดมทุนและกรณีโครงการร่วมลงทุนไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่าการลงทุน โดยเป็นโครงการที่ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตร ระยะเวลาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี และผู้ประกอบกิจการจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยในรูปของบริษัทโดยให้กิจการมีอำนาจในการบริหารจัดการได้โดยอิสระ ส่วน ธ.ก.ส. ทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง |
|
คุณสมบัติของผู้ประกอบการ |
1) เป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (Start up) ได้แก่ 1.1) ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร 1.2) โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีศักยภาพ 2) เป็นผู้ประกอบการในระยะของการขยายธุรกิจซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคุณลักษณะตามข้อ 1.1) และ 1.2) 3) เป็นผู้ประกอบการที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม ภาคการเกษตร 4) กลุ่มวิสาหกิจ กองทุนหมู่บ้าน ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง |
|
ขั้นตอนการสนับสนุนเงินทุนในธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการ |
ธ.ก.ส. พิจารณาคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตามคุณสมบัติ เกณฑ์คัดเลือกที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด โดยผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกจะต้องทำธุรกรรมส่วนใหญ่ผ่านระบบของ ธ.ก.ส. และรายงานผลประกอบการให้ ธ.ก.ส. ทราบ ทุกเดือน ทั้งนี้ ธ.ก.ส. จะสมทบเงินลงทุนตามแผนการระดมทุนของกิจการและมอบหมายกรรมการเป็นตัวแทนอย่างน้อย 1 ที่ ซึ่งมีสิทธิยับยั้งการตัดสินใจ ที่เกี่ยวข้องกับเงินทุนของกิจการ |
|
เงื่อนไขการออกจากการร่วมลงทุน |
1) กรณีผู้ร่วมลงทุนไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน หรือกระทำการที่กระทบต่อความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน หรือละเมิดสิทธิผู้บริโภค ธ.ก.ส. สามารถพิจารณาเพิกถอนการร่วมลงทุนได้ โดยมูลค่าหุ้นที่ถอนต้องรับผลตอบแทนไม่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุดตามระยะเวลาถือครองหุ้น 2) กรณีมีการเติบโตทางธุรกิจ จะพิจารณาจากการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต มีผลกำไรหรือขาดทุนต่อเนื่อง ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามแผนที่กำหนด โดยให้มีการประเมินความพร้อม ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทและความพร้อมทางธุรกิจ ก่อนออกจากการร่วมลงทุนและเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการการร่วมลงทุน (Venture Capital) พิจารณา ทั้งนี้ การออกจากการร่วมลงทุนจะพิจารณาตามความพร้อมของกิจการและผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย |
2. การร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการภาคการเกษตรของไทย ธ.ก.ส. ได้คัดเลือกผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2 ราย ได้แก่
2.1 บริษัท คิว บ็อคซ์ พอยท์ จำกัด ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตรโดยใช้แพลตฟอร์มเพื่อช่วยเกษตรกรในการวางแผนการผลิตให้สัมพันธ์กับความต้องการของตลาดในลักษณะการซื้อขายล่วงหน้า มูลค่ากิจการ ณ ต้นปี 2564 อยู่ที่ 135 ล้านบาท อันดับเครดิตระดับ AAA รายได้หลักมาจากค่าปรับปรุงแพลตฟอร์มและค่าสมาชิกจากผู้ซื้อผลผลิตการเกษตรรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีแผนการปรับเปลี่ยนที่มาของรายได้จากการเก็บค่าสมาชิกมาเป็นส่วนแบ่งยอดขายสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นผ่านระบบเพื่อจูงใจให้เกษตรกรใช้บริการแพลตฟอร์มในการขายผลผลิต ทั้งนี้ ได้เสนอให้ ธ.ก.ส. ร่วมลงทุน จำนวน 15 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น ร้อยละ 11.10 ของจำนวนหุ้นหลังการร่วมทุน
2.2 บริษัท อินฟิวส์ จำกัด ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร โดยให้บริการ แอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งผู้ใช้งานหลักคือชาวนาที่ซื้อประกันภัยผลผลิต มูลค่ากิจการ ณ ต้นปี 2564 อยู่ที่ 35.74 ล้านบาท อันดับเครดิตระดับ AA โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในการบันทึกแปลงที่ดินของเกษตรกรและสามารถแจ้งการประสบภัยเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีเอาประกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้ระบบประมาณ 4,000 คน โดยรายได้หลักของบริษัทฯ มาจากการสนับสนุนจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยซึ่งจ่ายให้แบบเงินก้อนต่อปีเพื่อบำรุงรักษาระบบและค่าจ้างในการอบรมชาวนาเพื่อใช้ระบบ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีแผนจะขยายระบบวางแผนบริหารจัดการแปลงเกษตรอย่างครบวงจรเพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และสามารถวางแผนเพาะปลูกได้ดีขึ้น รวมทั้งจะขยายฐานการใช้แอปพลิเคชันมะลิซ้อน ซึ่ง ธ.ก.ส. จะได้ประโยชน์ทั้งในรูปตัวเงินและ จากการแชร์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อ โดยบริษัทฯ ได้เสนอให้ ธ.ก.ส. ร่วมลงทุน จำนวน 7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 19.58 ของจำนวนหุ้นหลังการร่วมทุน
ทั้งนี้ งบประมาณการร่วมลงทุนเป็นการใช้งบประมาณการดำเนินงานปกติของ ธ.ก.ส.
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย แล้ว ซึ่งการร่วมทุนดังกล่าวจะสามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก สร้างผลิตภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและมูลค่าของผู้ประกอบการและภาคการเกษตร ประกอบกับสามารถช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ ภาคการเกษตรหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องภาคการเกษตรที่มีการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพัฒนาธุรกิจให้สามารถเข้าถึงเงินทุนและมีโอกาสเข้าถึงตลาดอีกด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10142
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ