ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 27
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 October 2021 22:08
- Hits: 5648
ขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 27
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 27 (ร่างถ้อยแถลงฯ) โดยหากมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงร่างถ้อยแถลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยก่อนการรับรอง อนุมัติให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง และอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นผู้รับรองร่างถ้อยแถลงฯ ร่วมกับรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปคตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ
สาระสำคัญ
การประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค (APEC Small and Medium sized Enterprises Ministerial Meeting) (การประชุมฯ) เป็นการประชุมระดับนโยบายด้านการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้เขตเศรษฐกิจนิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ครั้งที่ 27 ซึ่งมีกำหนดจัดการประชุมขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 – 13.00 น. ผ่านระบบการประชุมทางไกล การประชุมดังกล่าวประกอบด้วยประเทศสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ1 สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) สมัชชาเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแถบแปซิฟิก (Pacific Economic Cooperation Council: PECC) ประชาคมอาเซียน (Association of South East Asia Nations: ASEAN) และเลขาธิการองค์การประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum: PIF) ซึ่งการประชุมฯ ในปีนี้ จะมีการหารือกันใน 2 ประเด็นหลัก คือ การใช้ดิจิทัลเพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ (Digitalisation as an enabler of Effective Recovery from Economic Shocks) และการฟื้นฟูผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมอย่างครอบคลุมและการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (Promoting Inclusion and Wellbeing for Recovery)
ทั้งนี้ร่างถ้อยแถลงฯ จะเป็นผลลัพธ์ของการประชุมฯ โดยมีเนื้อหาเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro Small and Medium – sized Enterprises: MSMEs) ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น ปรับปรุงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทางเลือก โดยต้องคำนึงถึงความต้องการเฉพาะด้านของ MSMEs พยายามมองหาและปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นในขณะที่ ก้าวเข้าสู่ระยะของการตอบสนองและการฟื้นตัวจากการระบาดโรคโควิด-19 กระชับความร่วมมือ สร้างศักยภาพ และแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดผ่านเอเปค เป็นต้น การใช้ดิจิทัลเพื่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และการฟื้นฟูผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมอย่างครอบคลุมและการเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดี
_____________________________
1เอเปคมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ซิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย อเมริกา และเวียดนาม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 ตุลาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10133
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ