การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 28 September 2021 23:59
- Hits: 776
การขอความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26
คณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป รวมทั้ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video conference) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
ร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 สรุปสาระสำคัญ อาทิ
1) การชื่นชมความพยายามและความก้าวหน้าที่โดดเด่นของภูมิภาค แม้จะมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน อันเกิดจากการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ในการบรรลุแผนงานหลักสามประการของการเป็นประธานอาเซียนของประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้แก่ (1) การสร้างประชาคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีภูมิคุ้มกันโดยส่งเสริมให้มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (ประชาคมที่ห่วงใย) (2) การเตรียมความพร้อมและการปรับตัวสำหรับโอกาสและความท้าทายในอนาคต เพื่อทำให้แน่ใจว่าอาเซียนจะดำรงความสำคัญและมีภูมิคุ้มกันเพื่อเอาชนะความท้าทายและภัยคุกคามในปัจจุบันและในอนาคตต่างๆ ได้ (ประชาคมที่เตรียมพร้อม) และ (3) การสร้างโอกาสและประโยชน์ให้แก่ประชาชนผ่านแผนงานที่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนของภูมิภาค (ประชาคมที่ก้าวหน้า)
2) การชื่นชมการดำเนินการที่ครอบคลุมขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากช่องว่างและความท้าทายที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาค ในด้านต่างๆ อาทิ ระบบสุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ข้อมูลเท็จ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการนำข้อเสนอแนะจากการประเมินผลครึ่งแผนของแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 มายกระดับความพยายามในการเสริมสร้างประชาคมอาเชียน โดยการผนวกรวมและปรับปรุงการดำเนินการตามแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 ให้สอดรับกับแผนงานรายสาขาของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนภายหลังปี 2563 และกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework: ACRF) ตามลำดับ
3) การเน้นย้ำถึงความจำเป็นของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับงานเชิงสถาบันที่มีอยู่เดิมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการประสานงานข้ามสาขาและข้ามเสา โดยเฉพาะการประสานงานที่มีเป้าหมายในการฟื้นตัวและการบรรจุวิสัยทัศน์ ประชาสังคมอาเซียนภายหลังปี พ.ศ. 2568 ในขณะที่ยังคงธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนผ่านกลไกต่างๆ ที่นำโดยอาเซียน
4) การมุ่งหวังที่จะดำเนินการตามความริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมของอาเซียนเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองของอาเซียนต่อกรณีฉุกเฉินและภัยพิบัติ (ASEAN Strategic and Holistic Initiative to link ASEAN Responses to Emergencies and Disasters: ASEAN SHIELD) การรับทราบตารางข้อมูลการเชื่อมโยงระหว่างความริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ฯ กับข้อริเริ่มระดับภูมิภาคที่มีอยู่เดิมว่าด้วยภัยพิบัติและเหตุฉุกเฉินและชุดข้อเสนอแนะในการแปลงข้อริเริ่มต่างๆ ของอาเซียนไปเป็นกรอบการดำเนินงานระดับภูมิภาค
5) การรับรองกรอบนโยบายยุทธศาสตร์อาเชียนว่าด้วยการส่งเสริมการปรับตัวของประชาคมอาเซียนสำหรับความเข้าใจ การยอมรับ และการรับรู้เกี่ยวกับวาระระดับภูมิภาคที่มากขึ้นในหมู่ประชาชนอาเซียน และการแสดงความยินดีต่อประเทศบรูไนดารุสซาลามเกี่ยวกับความสำเร็จในการจัดเวทีเสวนานวัตกรรม การจ้างงานเยาวชน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมุมมองของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564 และคาดหวังว่าความสำเร็จในการจัดเวทีเสวนานวัตกรรมฯ ครั้งที่ 1 จะนำไปสู่การขยายผลในการจัดเวทีดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป
6) การรับรองกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใส่ใจที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Framework on Care Economy) ในฐานะข้อริเริ่มที่จะเป็นแนวทางให้แก่ภูมิภาคในการจัดการกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของการลงทุนอย่างยั่งยืนในงานด้านการดูแล และเพื่อให้องค์ประกอบของงานด้านการดูแลทั้งหมดกลายเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมของอาเซียน และการรับทราบยุทธศาสตร์ 6 ประการที่คาดว่าจะสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจใส่ใจของอาเซียน รวมถึงเป็นส่วนเสริมของกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียนและวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี พ.ศ. 2568
7) การชื่นชมความก้าวหน้าของข้อริเริ่มสำคัญว่าด้วยการตอบสนองต่อโควิด 19 ที่นำไปสู่การเตรียมความพร้อมของภูมิภาคต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในอนาคต ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ การพัฒนาระบบประสานงานด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของอาเซียน และการเปิดตัวเว็บไซต์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ที่ประชุมยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือ โดยเฉพาะในด้านการจัดการกับผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ไปทั่วโลกต่อสุขภาพจิต
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 28 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9987
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ