ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 September 2021 01:39
- Hits: 14019
ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สำนักงาน ปปง. เสนอว่า
1. รายงานผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของประเทศไทยด้านมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. 2560 พบว่า ประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องเรื่องการกำหนดความผิดมูลฐานฟอกเงินไม่ครอบคลุมความผิด 21 ประเภท ตามที่คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (The Financial Action Task Force - FATF) กำหนด ซึ่งยังขาดการกำหนดให้การลักลอบนำพาคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐาน นอกจากนี้ FATF ได้กำหนดให้แต่ละประเทศต้องกำหนดให้มีความผิดฐานฟอกเงินตามอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (United Nations Convention against Transnational Organized Crime - UNTOC) และต้องกำหนดให้ความผิดร้ายแรงทุกประเภทเป็นความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีเจตนาเพื่อกำหนดความผิดมูลฐานให้ครอบคลุมและ มีขอบเขตกว้างที่สุด ประกอบกับมาตรฐานสากลด้านการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (INTERNATIONAL STANDARDS ON COMBATING MONEY LAUNDERING AND THE FINANCING OF TERRORISM & PROLIFERATION) ตามข้อแนะนำของ FATF (THE FATF Recommendations) ได้กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานเป็นความผิดมูลฐานด้วย
2. โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันยังมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามข้อแนะนำของ FATF ตามข้อ 1. ซึ่งส่งผลให้การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดช่องว่างทางกฎหมาย และไม่สามารถปราบปรามการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 มิถุนายน 2564) มอบหมายให้สำนักงาน ปปง. เร่งดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2562 ในส่วนของการกำหนดความผิดมูลฐานฟอกเงินที่เกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานและนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามข้อแนะนำของ FATF และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สำนักงาน ปปง. จึงได้ ยกร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ขึ้น โดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐานเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเหมาะสมกับสภาพการณ์ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมและทำให้การบังคับใช้กฎหมาย มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. คณะกรรมการ ปปง. ในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
4. สำนักงาน ปปง. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. (www.amlo.go.th) จำนวน 1 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 พร้อมนำผลการรับฟังความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ www.amlo.go.th ตามแนวทางของ มติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเกิดผลกระทบและประโยชน์ ดังนี้
4.1 ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การมีกฎหมายที่มีมาตรฐานสากลยอมรับย่อมส่งผล ต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาล ผู้ประกอบการและนักลงทุนจากต่างประเทศใน การประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
4.2 ผลกระทบต่อสังคม
4.2.1 ผลกระทบต่อหน่วยงานของรัฐ จะทำให้หน่วยงานภาครัฐมีเครื่องมือทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้รับการยอมรับจากประชาชน สามารถอำนวยความเป็นธรรมและสร้างสังคมที่มีความสงบสุข
4.2.2 ประชาชนและภาคเอกชน การมีกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อประชาชนและภาคเอกชนในภาพรวม การมีสังคมที่สงบสุขเนื่องจากอาชญากรรมที่ลดลง ย่อมทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” โดยกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบ ขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A9770