รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งกรณีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 September 2021 00:33
- Hits: 982
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งกรณีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งกรณีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กสม. ได้พิจารณากรณีศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์แล้วเห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จำเป็นต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์ หญิงมีครรภ์ รวมถึงผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในด้านต่างๆ
2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การยุติการตั้งครรภ์เกี่ยวข้องกับประเด็นต่างๆ ได้แก่ ปัญหาของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ ผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ ข้อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิของหญิงมีครรภ์และสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์ และข้อพิจารณาในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของหญิงมีครรภ์ และสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์ จึงได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนกรณีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ (1) คณะรัฐมนตรีควรจัดสรรหรือสนับสนุนงบประมาณแก่ สธ. ในการจัดให้สถานบริการด้านสาธารณสุขทุกแห่งและทุกระดับทั้งในระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ มีบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่จำเป็น และ (2) คณะรัฐมนตรีควรพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์
3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางหรือผลการดำเนินการดังกล่าว โดยให้ สธ. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับ พม. ยธ. สงป. สคก. ตช. ศย. อส. แพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะดังกล่าวในภาพรวม สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะ |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ครม. ควรจัดสรรหรือสนับสนุนงบประมาณแก่ สธ. ในการจัดให้สถานบริการด้านสาธารณสุขทุกแห่งและทุกระดับทั้งในระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ มีบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ครอบคลุมการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่จำเป็น ซึ่งหมายความรวมถึงการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด การทดสอบการตั้งครรภ์ การดูแลและให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการตั้งครรภ์ และการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้สถานบริการด้านสาธารณสุขมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และสถานที่สำหรับให้บริการประชาชนทุกกลุ่มและทุกช่วงวัยอย่างเสมอภาคและทั่วถึง 2. ครม. ควรพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ ได้แก่ พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการสงเคราะห์และส่งเสริมสวัสดิการสังคม รวมถึงกฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับอื่นใดที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ ให้สอดรับกับแนวคิดและหลักการในการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา รวมถึงกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานการปฏิบัติ กระบวนการ และขั้นตอนในการยุติการตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังยุติการตั้งครรภ์ ตลอดจนกลไกในการขับเคลื่อนกฎหมายให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนสิทธิในสุขภาพ และอนามัยการเจริญพันธุ์ของหญิงมีครรภ์ทุกช่วงวัย รวมทั้งการกำหนดให้มีกลไกช่วยเหลือให้การตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่พึงประสงค์และได้รับการคุ้มครองจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับหญิงมีครรภ์ ทั้งนี้ ควรมอบหมายให้ สธ. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการดังกล่าว และเปิดโอกาสให้ทุกาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เข้ามามีส่วนร่วมพิจารณา และให้ความเห็นประกอบการดำเนินการด้วย |
สธ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 จำนวน 3 คณะ ดังนี้ (1) คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายระดับอนุบัญญัติ มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำแผน ร่างอนุบัญญัติ และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอนุบัญญัติที่ออกตามความในมาตรา 305 (5) (2) คณะอนุกรรมการสื่อสารความรู้และตอบโต้ความเสี่ยงมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำแผนงานและกลไกสื่อสารประชาสัมพันธ์เรื่องกฎหมายและการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เฝ้าระวัง ตรวจสอบข่าว ตอบโต้ข่าว เพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรและประชาชน และ (3) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบบริการและระบบสารสนเทศ มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำแผนงานและออกแบบพัฒนาระบบบริการ ระบบสารสนเทศและประเมินผล จัดทำแนวทางการปฏิบัติในการจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและการดูแลช่วยเหลือด้านสวัสดิการที่เกี่ยวข้องและแนวทางพัฒนาระบบสารสนเทศและประเมินผล รวมทั้งจัดทำระบบการเฝ้าระวังเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ย โดยได้ดำเนินงานตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A9759