WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ

GOV8

นโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคน การอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ

          ทั้งนี้ อว. เสนอว่า นโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนฯ เป็นกรอบในการกำหนดทิศทางการจัดสรรทุนที่ชัดเจนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และความต้องการของประเทศได้อย่างทันเวลา โดยตั้งเป้าหมายในการให้ทุนเพื่อมุ่งเน้นการสร้างคนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี จึงจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีโดยด่วน เพื่อจัดทำโครงการด้านการจัดสรรทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษา ในการพัฒนาประเทศ และเร่งรัดการผลิตกำลังคนระดับสูงให้ตอบโจทย์ประเทศ กำหนดแผนงานให้เกิดความชัดเจนต่อไป

           สาระสำคัญ 

           เนื่องจากทุนการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างคนเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเร่งรัดการผลิตกำลังคนระดับสูงให้ตอบโจทย์ประเทศ จึงต้องกำหนดจุดเน้น (Focus) การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง (Priority) หรือหาทางลัด (By-pass) เพื่อให้ดำเนินการอย่างมีเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์ โดยสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการจัดสรรทุนในสาขาที่หลากหลายครอบคลุมสหวิทยาการ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ มีระบบบริหารจัดการทุนในภาพรวมของประเทศที่มีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

          นโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการจัดสรรทุนที่ชัดเจนรองรับความเปลี่ยนแปลง และความต้องการของประเทศได้อย่างทันเวลา สะท้อนภารกิจของอุดมศึกษาที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อน การพัฒนาประเทศในฐานะเป็นมันสมองอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน ดังนี้

          1) หน่วยบริหารทุนมีความเป็นเอกภาพ ในการนำนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อน การบริหารจัดการทุนไปสู่การปฏิบัติ

          2) มีแผนการดำเนินงานและแผนงบประมาณที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เกิดการบริหารจัดการที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานที่ตอบโจทย์ประเทศได้ สามารถทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

          3) ผลการประเมินการใช้ประโยชน์ และการใช้ศักยภาพจากผู้รับทุน เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่โครงการได้กำหนดไว้ มีการใช้งบประมาณของประเทศที่คุ้มค่า และเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิตด้านต่างๆ ด้วยผลผลิตจากผู้รับทุนที่กลับมาสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมกับประเทศไทยและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้จริง

          1. แนวทางการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 3 แนวทาง มีสาระสำคัญ ดังนี้

                  1.1 ปฏิรูปกลไกการบริหารจัดการทุนให้มีความเป็นเอกภาพภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารจัดการทุน ประกอบด้วย

                          1) การบูรณาการหน่วยบริหารจัดการทุนให้มีเอกภาพ เนื่องจากหน่วยบริหารจัดการทุนของประเทศมีหลายแหล่งทุนหลายกระทรวง อีกทั้งภายในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็มีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยจัดสรรและบริหารทุนการศึกษา ประเภทต่างๆ ตั้งแต่ทุนระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี ปริญญาโท และระดับปริญญาเอก ซึ่งการให้ทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการ อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อน จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการหน่วยบริหารจัดการทุนให้มีเอกภาพ

                          2) การจัดสรรทุนเพื่อพัฒนาสมรรถนะ (Competency) และทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาประเทศ (Non-degree) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และทันต่อความต้องการกำลังคนในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมสำคัญในระยะสั้น โดยลักษณะความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

                          3) กำหนดคุณสมบัติของผู้รับทุนให้ชัดเจน และกำหนดวิธีการสรรหาและการคัดเลือกที่มีรูปแบบหลากหลายสอดคล้องกับบริบทโลก ทั้งกลไกการสรรหา (Recruit) และรับเข้า (Admit) อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์

                          4) ปรับรูปแบบ/เงื่อนไขการรับทุนให้มีความยืดหยุ่น เพื่อดึงดูดผู้รับทุนที่มีศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศตลอดเวลาทั้งการศึกษารวมทั้งผู้ที่จบการศึกษาแล้ว  

                          5) พัฒนาและสร้างแรงจูงใจกับผู้รับทุนเข้าร่วมโครงการ โดยปรับรูปแบบและเงื่อนไขการรับทุน รวมทั้งการชดใช้ทุนให้มีความยืดหยุ่น เพื่อดึงดูดและสร้างแรงจูงใจผู้รับทุนที่มีศักยภาพสูงทั้งในและต่างประเทศ ตลอดเวลาทั้งการศึกษารวมทั้งผู้ที่จบการศึกษาแล้ว

                          6) พัฒนาระบบฐานข้อมูลทุนการศึกษาให้ทันสมัย เป็นปัจจุบัน และสามารถใช้ประโยชน์เชิงนโยบายได้ โดยปฎิรูประบบฐานข้อมูลทุนการศึกษาทั้งระบบ ด้วยการกำหนด Data Catalog จัดทำและบูรณาการการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางร่วมกัน สร้างสารสนเทศด้านทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ

                          7) กำหนดแนวทางการจัดสรรทุน เช่น ประเภทการรับทุน สาขาวิชา ประเทศที่ไปศึกษา โดยมีกลยุทธ์และทิศทางที่สอดคล้องกับความจำเป็นและเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศ

                  1.2 จัดสรรทุนเพื่อสร้างคนให้ตรงกับตลาดงานและสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ประกอบด้วย

                          1) จัดสรรทุนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ (Demand Side) โดยการกำหนดเป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มสาขาวิชา ตามความเร่งด่วนเพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณในการจัดสรรทุนเกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

                          2) จัดสรรทุนเพื่อพัฒนากำลังคนที่มีความรู้ความสามารถขั้นสูงและมีสมรรถนะตามความต้องการของตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ทำให้ความต้องการ ความรู้ในการพัฒนาประเทศเปลี่ยนไป ทั้งภาคการศึกษา การสาธารณสุข อุตสาหกรรม และการสื่อสารต่างๆ เช่น คนที่มีความรู้ในการผลิตวัคซีน การผลิตแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีทางอาหาร ความสามารถทางอากาศยาน เป็นต้น

                          3) กำหนดสัดส่วนการจัดสรรทุนโดยเน้นสาขาวิชาที่มีความจำเป็นต่อการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ (Strategic, Function, Area) เช่น การนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) มาช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

                          4) บริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ในการกำหนดประเทศที่ไปศึกษาสาขาวิชาตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนด้านอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ

                          5) กำหนดแนวทางการต่อยอดการพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นเพื่อดึงดูดกำลังคนที่มีคุณภาพ ในการพัฒนาประเทศ

                          6) บูรณาการการจัดสรรทุนกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และมีเป้าหมายการผลิตกำลังคนที่ชัดเจน

                  1.3 ขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานให้เป็นระบบและสม่ำเสมอ รวมทั้งวางแผนการใช้ประโยชน์จากผู้รับทุน ประกอบด้วย

                          1) ขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามทิศทางและเป้าหมาย

                          2) ติดตามการศึกษาและใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุนอย่างเป็นระบบจากฐานข้อมูลทุนการศึกษา

                          3) วางระบบในการดูแลผู้รับทุน มีหน่วยงานที่ดูแลและติดตามผู้รับทุนอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ

                          4) ใช้ศักยภาพของผู้รับทุนอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศตั้งแต่ระยะที่มีการศึกษา

                          5) สร้างความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ (Career Path) ของผู้รับทุนให้ชัดเจน

                          6) สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคการผลิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมผลิตหรือแลกเปลี่ยนความรู้/เทคโนโลยี โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติงานชดใช้ทุนให้มีรูปแบบที่ดึงดูดผู้รับทุนไปทำงานให้เต็มศักยภาพ

                          7) มีระบบการรายงานผลการดำเนินการในภาพรวมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

          2. ความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ 

                  2.1 ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561–2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรมและเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่สาม และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่ และอื่นๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง

                  2.2 แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ .. 2564 – 2570 มีวิสัยทัศน์อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนโดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่ (1) กำลังคนมีคุณภาพและปริมาณรองรับการพัฒนาประเทศ และการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก (2) งานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และ (3) สถาบันอุดมศึกษามีสมรรถนะตรงตามอัตลักษณ์/จุดแข็ง เพื่อให้เกิดคุณภาพในระบบอุดมศึกษา

                  2.3 (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม .. 2566 – 2570 มีวิสัยทัศน์สานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคตซึ่งได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 กันยายน 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C J

BITKUB Ad

SAM720x100px bgGC 790x90

smed banpu 720x90 new1 1

A9753

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!