WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม 2564

GOV3

รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม 2564

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

          สาระสำคัญ 

          1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนกรกฎาคม 2564

                 การส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคม 2564 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ด้วยมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 20.27 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 25.38 เป็นผลจากการเร่งแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก และการดำเนินงานตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การจ้างงานปรับตัวดีในระดับที่น่าพอใจ ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสหภาพยุโรปทำให้ภาคบริการฟื้นตัว ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปเติบโตเร็วขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบ และสินค้าเพื่อการลงทุนปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยหนุนต่อภาคการส่งออกไทย ทั้งนี้ การส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 16.20 เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ร้อยละ 21.47 สะท้อนภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) ที่เติบโตอย่างชัดเจน

                 มูลค่าการค้ารวม

                 มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 22,650.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.27 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 22,467.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 45.94 ดุลการค้าเกินดุล 183.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 154,985.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.20 การนำเข้า มีมูลค่า 152,362.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 28.73 ดุลการค้า 7 เดือนแรก เกินดุล 2,622.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

                 มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนกรกฎาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 708,651.66 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.16 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 712,613.16 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 48.22 ดุลการค้าขาดดุล 3,961.50 ล้านบาท ภาพรวมการส่งออก 7 เดือนแรกของปี 2564
                 
การส่งออก มีมูลค่า 4,726,197.35 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.93 การนำเข้า มีมูลค่า 4,711,274.91 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 26.34 ดุลการค้า 7 เดือนแรก เกินดุล 14,922.44 ล้านบาท

                 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

                 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 24.3 (YoY) ขยายตัว 8 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 80.2 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 121.2 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 62.0 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 17.3 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี และอินเดีย) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัว ร้อยละ 51.7 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ มาเลเซีย อินเดีย เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 8.4 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ เมียนมา จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และสหราชอาณาจักร) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อียิปต์ และแคนาดา) สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ หดตัวร้อยละ 51.6 (หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา และลาว แต่ขยายตัวดีในเมียนมา จีน ญี่ปุ่น และเนปาล) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 27.6 (หดตัวในตลาดเวียดนาม อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวดีในตลาดฟิลิปปินส์ กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้) ข้าว หดตัวร้อยละ 8.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เบนิน แคเมอรูน และญี่ปุ่น แต่ขยายตัวดีในตลาดแอฟริกาใต้ จีน เยเมน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.6

                 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

                 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 18.0 (YoY) ขยายตัว 5 เดือนต่อเนื่อง สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 39.2 (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ ออสเตรเลีย เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 16.0 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และออสเตรเลีย) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 59.0 (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ จีน กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินเดีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 43.8 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 19.3 (ขยายตัวหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 59.4 (ขยายตัวทุกตลาด อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย และมาเลเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 2.9 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเวียดนาม แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดจีน กัมพูชา และมาเลเซีย) ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 2.4 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม และออสเตรเลีย แต่ขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ เกาหลีใต้) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 3.9 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ และสหรัฐฯ แต่ขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา ญี่ปุ่น และอินเดีย) 7 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 16.2

                 ตลาดส่งออกสำคัญ

                 การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญยังขยายตัวในเกณฑ์ดีเกือบทุกตลาด ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก หลังจากมีอัตราการฉีดวัคซีนภายในประเทศอยู่ในระดับสูงทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น การส่งออกไปกลุ่มตลาดต่างๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 25.8 ขยายตัวทุกตลาด ประกอบด้วย สหรัฐฯ ร้อยละ 22.2 จีน ร้อยละ 41.0 ญี่ปุ่น ร้อยละ 23.3 สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 20.9 อาเซียน (5) ร้อยละ 26.9 CLMV ร้อยละ 16.1 2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 27.6 ขยายตัวเกือบทุกกลุ่มตลาด ได้แก่ เอเชียใต้ ร้อยละ 73.8 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 12.4 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 17.9 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 93.5 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 53.0 ขณะที่ทวีปออสเตรเลียหดตัวร้อยละ 6.8 และ 3) ตลาดอื่นๆ หดตัวร้อยละ 76.7

          2. แนวโน้ม และมาตรการส่งเสริมการส่งออกในปี 2564

                 การส่งออกของไทยในปี 2564 มีแนวโน้มของการขยายตัวที่ดี สะท้อนจาก (1) การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (2) ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อีกทั้งการส่งออกไปยังอาเซียนยังได้รับอานิสงส์จากปัจจัยดังกล่าวเช่นกัน แม้ว่าจะยังคงมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรง (3) มาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ และการเร่งฉีดวัคซีนทั่วโลก ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย (4) ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในขณะนี้ สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ยังคงดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและแผนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ อาทิ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกกว่า 130 กิจกรรมในครึ่งปีหลัง พร้อมจัดการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับทูตพาณิชย์ของไทยในจีนเพื่อเร่งแก้ไขอุปสรรคการส่งออกในสินค้าผลไม้ เช่น ทุเรียน และลำไย ไปยังตลาดจีน ซึ่งจากความพยายามในการหารือและเจรจาครั้งที่ผ่านมาของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จีนปลดล็อกอุปสรรคการส่งออกในสินค้าเกษตรทั้ง 2 ชนิดแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สินค้าเกษตรในประเทศมีช่องทางในการระบายสินค้าและส่งผลดีต่อเกษตรกรของไทยต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 กันยายน 2564

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

 

EXIM One 720x90 C J

BITKUB Ad

SAM720x100px bgGC 790x90

smed banpu 720x90 new1 1

A9752

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!