ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กระทรวงการคลัง)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 September 2021 23:42
- Hits: 1033
ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่คณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กระทรวงการคลัง เสนอดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการและการขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา
2. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 27,005,655,400 บาท ให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (กองทุนฯ) สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ได้แก่ (1) มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา (2) การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (3) การดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่) และ (4) การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่)
สาระสำคัญ
1. การขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา
วัตถุประสงค์ : เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรฯ อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมผู้มีบัตรฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการบรรเทาฯ ดังกล่าวให้มากขึ้น
ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565 (ระยะเวลา 12 เดือน)
1.1 ค่าไฟฟ้า
1) กลุ่มเป้าหมาย : ประมาณ 1.9 ล้านครัวเรือน (1 ครัวเรือนใช้ได้เพียง 1 สิทธิ เท่านั้น)
2) วิธีดำเนินการ : กรณีค่าไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่หากใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้สิทธิตามมาตรการนี้ในวงเงิน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด
3) งบประมาณ : ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,836 ล้านบาท
1.2 ค่าน้ำประปา
1) กลุ่มเป้าหมาย : ประมาณ 186,625 ครัวเรือน (1 ครัวเรือนใช้ได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น)
2) วิธีดำเนินการ : สนับสนุนค่าน้ำประปาวงเงิน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีบัตรฯ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาท ด้วยตนเอง แต่หากมีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท จะไม่ได้รับการสนับสนุนวงเงินค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาท โดยที่ผู้มีบัตรฯ จะเป็นผู้รับภาระในการชำระค่าน้ำประปาทั้งหมด
3) งบประมาณ : ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 182 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้มีบัตรฯ ต้องนำใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าและใบแจ้งหนี้ค่าประปาไปชำระที่สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำนักงานการประปานครหลวง และสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยทุกสิ้นเดือนการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค จะส่งบันทึกรายชื่อผู้มีบัตรฯ ที่ใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาภายใต้วงเงินที่กำหนดให้กรมบัญชีกลาง เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะนำเงินจากกองทุนฯ มาจ่ายคืนผ่านบัตรฯ ในช่องกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (ช่อง e-Money) ให้แก่ผู้มีบัตรฯ ต่อไป
ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้มีบัตรฯ อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมผู้มีบัตรฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการบรรเทาฯ ดังกล่าวให้มากขึ้น จึงเห็นควรปรับเปลี่ยนหลักการและการขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาฯ และเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว จึงเห็นควรขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,018 ล้านบาท
2. การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
วัตถุประสงค์ : เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 กองทุนฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอสำหรับจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ จำนวน 13.56 ล้านคน (ข้อมูลกรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564) ดังนั้น เพื่อให้การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ ซึ่งเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีบัตรฯ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นไปตามหลักการแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 และการปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการ สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 จึงเห็นควรขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565 (ระยะเวลา 12 เดือน)
รายละเอียด : การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ มีรายละเอียด ดังนี้
1) ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประกอบด้วย (1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยให้วงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และ (2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย (1) วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน (2) วงเงินค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และ (3) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน
3) การเพิ่มเบี้ยความพิการ จากจำนวน 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นจำนวน 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
งบประมาณ : ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 18,815 ล้านบาท
3. การดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่)
เหตุผลและความจำเป็น : การดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ ที่ผ่านมายังมีกลุ่มตกหล่นที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงการลงทะเบียนฯ ได้ อีกทั้งโครงการลงทะเบียนฯ ได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะหนึ่ง ซึ่งอาจไม่สะท้อนความเป็นผู้มีรายได้น้อย ณ เวลาปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย
สาระสำคัญ : เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการระบุตัวผู้มีรายได้น้อย และมีข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา (Dynamic Data) ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการสังคมของภาครัฐจึงเห็นควรให้ดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) ซึ่งจากสถานการณ์ COVID-19 คาดว่าจะมีผู้ผ่านคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนฯ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อรองรับกระบวนการลงทะเบียนดังกล่าว จึงเห็นควรใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
รายละเอียด : ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) ประกอบด้วย
1) ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียนของหน่วยงานรับลงทะเบียน ได้แก่ กรมบัญชีกลาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กรมการปกครอง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา
2) ค่าใช้จ่ายในการผลิตและบริหารจัดการบัตรฯ
งบประมาณ : ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 1,642 ล้านบาท
4. การจัดสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (รอบใหม่)
วัตถุประสงค์ : เนื่องจากในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กองทุนฯ คาดว่าจะดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย อาจทำให้มีผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านคุณสมบัติของโครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) จำนวนเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อรองรับจำนวนผู้มีบัตรฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายใต้โครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) จึงเห็นควรขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเพิ่มเบี้ยความพิการ
รายละเอียด : การจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ เป็นไปตามรูปแบบเดิมที่ได้มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประกอบด้วย (1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยให้วงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และวงเงิน 300 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้มีสิทธิที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และ (2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน
2) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบด้วย (1) วงเงินค่าโดยสารรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบบ e-Ticket/รถไฟฟ้า จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน (2) วงเงินค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน และ (3) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ จำนวน 500 บาทต่อคนต่อเดือน
3) การเพิ่มเบี้ยความพิการ จากจำนวน 800 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นจำนวน 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการและผ่านคุณสมบัติการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
งบประมาณ : ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 4,530,655,400 บาท
ผลกระทบ
1. สามารถบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรฯ อย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมผู้มีบัตรฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการบรรเทาฯ ดังกล่าวให้มากขึ้น
2. สามารถบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีบัตรฯ โดยการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
3. สามารถดำเนินโครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) ซึ่งเป็นการเพิ่มความแม่นยำในการระบุตัว ผู้มีรายได้น้อย และมีข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา (Dynamic Data) ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการสังคมของภาครัฐ
4. สามารถบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีบัตรฯ โดยการจัดสรรสวัสดิการแบบไม่กำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้มีบัตรฯ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนฯ (รอบใหม่) ที่คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่ม มากขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A9744