ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของราชการพลเรือนภายใต้ความท้าทายใหม่
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 September 2021 22:44
- Hits: 5860
ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของราชการพลเรือนภายใต้ความท้าทายใหม่
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของราชการพลเรือนภายใต้ความท้าทายใหม่ (ASEAN Declaration on Fostering the Civil Service’s Adaptability to the New Challenges) และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสารดังกล่าวที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้สำนักงาน ก.พ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมรายสาขาภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของราชการพลเรือนภายใต้ความท้าทายใหม่ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำภาคราชการพลเรือนของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในการสร้างราชการพลเรือนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศจะต้องให้การรับรองในฐานะเอกสารผลลัพธ์สำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือภายใต้เสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน สาขาราชการพลเรือน ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 26 ผ่านระบบประชุมทางไกลในเดือนกันยายน 2564 (โดยไม่มีการลงนาม) และจะนำเสนอต่อผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 ต่อไป
สาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ สรุป ดังนี้
1. ส่งเสริมภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวยืดหยุ่นในราชการพลเรือน เพื่อนำไปสู่นโยบายและมตรการที่ตอบนสนองต่อสภาพแวดล้อมและความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีประสทธิภาพและทันเวลา และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีเพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียน
2. ส่งเสริมการพัฒนาทักษะของข้าราชการพลเรือนอย่างต่อเนื่องผ่านเวทีและโครงการต่างๆ เช่น ศูนย์องค์ความรู้เฉพาะด้านอาเซียน และเครือข่ายสถาบันฝึกอบรมข้าราชการพลเรือนอาเซียน เพื่อให้แน่ใจว่าความสามารถของข้าราชการพลเรือนจะสามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
3. ปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการให้บริการสาธารณะผ่านการปรับปรุงให้มีความทันสมัย ปฏิรูป และลดความซับซ้อนของขั้นตอนการบริหารจัดการโดยเน้นการแก้ปัญหาคอขวดและข้อบกพร่อง ต่างๆ และสร้างระบบเปิดเพื่อการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
4. ส่งเสริมรัฐบาลดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล และสังคมดิจิทัลในภูมิภาค และเร่งพัฒนานโยบายและกรอบกฎหมายสำหรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน เพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ลดข้อจำกัดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
5. ส่งเสริมความร่วมมือข้ามรายสาขาและข้ามเสา และการประสานงานในการส่งเสริมธรรมาภิบาลที่เอื้อต่อการสร้างประชาคมอาเซียนที่สร้างการมีส่วนร่วมและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้ง ครอบคลุม ยั่งยืน ยืดหยุ่น และมีพลวัตต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A9737