ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 16 September 2021 12:46
- Hits: 9672
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้ได้รับความเห็นของกระทรวงการคลังไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 มาตรา 35 วรรคหก บัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนฯ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ที่มอบหมายให้ คค. เป็นหน่วยงานในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง คค. จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ขึ้น โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัด คค. ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเวนคืน รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานภายนอก ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณากำหนดเนื้อหาและรายละเอียดกฎหมายลำดับรอง โดยคณะกรรมการดังกล่าวได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน พ.ศ. …. ขึ้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน โดยประชาชนผู้ถูกเวนคืนอาจได้รับการชดเชยด้วยที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยหรือที่ประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพเดิม ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนและได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นกฎหมายลำดับรองที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการอันเป็นสาธารณูปโภค การป้องกันประเทศ และการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น อันจะทำให้การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2. คค. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์ของ คค. ตั้งแต่วันที่ 2 – 17 เมษายน 2564 รวมเป็นเวลา 15 วัน ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชนเข้ามาอ่านร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ทางเว็บไซต์ดังกล่าว จำนวน 172 คน
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ได้ที่ดินเพิ่มเติมและการจ่ายเงินค่าทดแทนเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ถูกเวนคืน ดังนี้
1. กำหนดหลักเกณฑ์เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนที่จะได้รับการชดเชยเป็นที่ดินต้องเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนที่มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ อยู่ในวันก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และไม่มีที่ดินเหลืออยู่หรือมีเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ในกรณีที่ที่ดินส่วนที่เหลืออยู่ติดต่อกับที่ดินแปลงอื่นของเจ้าของเดียวกัน ให้พิจารณาโดยรวมถึงที่ดินแปลงติดต่อที่เป็นของเจ้าของเดียวกันด้วย
2. กำหนดลักษณะที่ดินที่จะเวนคืนเพิ่มเติมเพื่อนำไปชดเชยต้องเป็นที่ดินที่เจ้าของคนเดียวหรือหลายคนมีกรรมสิทธิ์คนละไม่น้อยกว่า 25 ไร่ สำหรับที่ดินที่ใช้เพื่อเกษตรกรรมและไม่น้อยกว่า 5 ไร่ สำหรับที่ดินที่ใช้เพื่อการอื่น ถ้าที่ดินที่อยู่ติดต่อกันเป็นเจ้าของคนเดียวกันให้พิจารณาเสมือนหนึ่งว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน
3. การชดเชยเป็นที่ดินให้กับเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนให้พิจารณาโดยคำนึงถึงองค์ประกอบดังต่อไปนี้ เช่น ราคาค่าทดแทนที่ดินตามมติของคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ จำนวนเนื้อที่ดินและสภาพและที่ตั้งของที่ดิน
4. ให้คณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ มีอำนาจและหน้าที่ในการประเมินราคาที่ดินที่ถูกเวนคืน และที่ดินแปลงอื่นที่ถูกเวนคืน
5. การเข้าทำการสำรวจที่ดินตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของที่ดินว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 6 และสอบถามความประสงค์และความยินยอมของเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนในการรับการชดเชยเป็นที่ดิน
6. การเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมเพื่อนำไปชดเชยนั้นอาจเวนคืนเท่ากับหรือน้อยกว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนก็ได้ แต่ต้องเพียงพอให้เจ้าของที่ดินสามารถอยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพได้
7. หากเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนไม่พอใจเงินค่าทดแทนสำหรับส่วนต่างของราคามูลค่าที่ดินตามมาตรา 20 วรรคสอง ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
A9493