ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 16 September 2021 10:39
- Hits: 1695
ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัยปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,851.2251 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 จำนวน 3,378 รายการ โดยรายละเอียดของแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
2. ให้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ข้อ 106 ในกรณีที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อสนับสนุนให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 เป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้
สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริง
1. จากสถานการณ์น้ำในปัจจุบันซึ่งมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อย ประกอบกับการอพยพกลับภูมิลำเนาเดิมของประชาชนในภาคอุตสาหกรรม สู่ชนบทเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมอันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนในแหล่งเก็บกักน้ำทั่วประเทศ พบว่ามีปริมาณน้ำรวม 35,713 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุเก็บกักทั้งประเทศ สามารถใช้การได้ 11,633 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุเก็บกักทั้งประเทศ จำแนกเป็นรายภาคได้ดังนี้
ภาค |
ปริมาณน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำ |
ปริมาณน้ำใช้การ |
รวมทั้งสิ้น |
35,713 |
11,633 |
เหนือ |
8,389 |
1,485 |
ตะวันออกเฉียงเหนือ |
5,799 |
3,897 |
กลาง |
340 |
292 |
ตะวันตก |
15,204 |
1,793 |
ตะวันออก |
1,308 |
1,160 |
ใต้ |
4,673 |
3,006 |
2. สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการการรับมือฤดูฝน ปี 2564 จำนวน 10 มาตรการ โดยแจ้งให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณามอบหมายหน่วยงานในสังกัด ที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนงานรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำเสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดพิจารณาความเหมาะสม พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของแผนงาน โดย สทนช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการเสนอโครงการ ดังนี้
1) เป็นแผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2564
2) เป็นแผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝนเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/2565
3) เป็นแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายเฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย และพื้นที่เฝ้าระวังที่อาจเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ตามผลการประเมินสถานการณ์น้ำของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
4) เป็นแผนงานซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ งานปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ งานกำจัดวัชพืช บ่อน้ำบาดาล และธนาคารน้ำใต้ดินที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที
5) เป็นแผนงาน/โครงการที่อยู่ภายใต้ภารกิจของหน่วยงาน และไม่เข้าข่าย เป็นงานที่จะต้องถ่ายโอนภารกิจ ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6) เป็นแผนงาน/โครงการที่ไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงาน/โครงการที่บรรจุในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แล้ว หรือกำลังจะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากแหล่งงบประมาณอื่น
7) ให้หน่วยงานเสนอขอปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จากโครงการ/รายการที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้ว และมีงบประมาณเหลือจ่าย และ/หรือรายการที่หมดความจำเป็น และ/หรือรายการที่คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แล้วแต่กรณีในโอกาสแรก หากงบประมาณดังกล่าวข้างต้นของส่วนราชการมีไม่เพียงพอ จึงจะสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้
8) กรณีโครงการที่ดำเนินการโดยจังหวัด หรือหน่วยงานท้องถิ่น ต้องนำแผนงานไปบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ให้เรียบร้อยก่อนเสนอแผนงาน/โครงการ.
9) การดำเนินการต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 20 การแบ่งซื้อแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะซื้อหรือจ้างในครั้งเดียวกันเพื่อให้วิธีการซื้อหรือจ้างหรืออำนาจในการสั่งซื้อสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไป
10) ให้หน่วยงานที่จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณต้องจัดส่งแบบรูปรายการ และประมาณการราคาค่าก่อสร้าง (ปร.4 และ ปร.5) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงบประมาณกำหนด
11) แผนงาน/โครงการที่จะเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจะต้องสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน และไม่เกินเดือนมกราคม 2565
3. สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบแผนงาน/โครงการจากหน่วยงานที่เสนอขอปรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายของหน่วยงานมาดำเนินการ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รวมทั้งสิ้น 14 รายการ วงเงินงบประมาณ 56.5130 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ
4. สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจสอบแผนงาน/โครงการจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์และแนวทางในการเสนอโครงการตามข้อ 2. พบว่ามีแผนงานโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2564 และเก็บกักน้ำไว้เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 รวมถึงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ให้สามารถเตรียมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จำนวน 3 กระทรวง 5 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 4,248 รายการ วงเงินงบประมาณรวม 4,998.6507 ล้านบาท
5. สำนักงบประมาณได้พิจารณานำเรื่องตามข้อ 4. กราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้หน่วยรับงบประมาณจำนวน 3 กระทรวง 5 หน่วยงานดำเนินการตามโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 จำนวน 3,378 รายการ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 3,851.2251 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1) ให้หน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจังหวัด 9 จังหวัด เป็นเป็นผู้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยตรงตามขั้นตอนของระเบียบและแนวทางที่เคยปฏิบัติต่อไป
สำหรับโครงการของจังหวัดซึ่งต้องบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 ขอให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตรวจสอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา หากยังมิได้กำหนดอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด เห็นควรให้ไปดำเนินการบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัดให้ครบถ้วนก่อน ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตรวจสอบ หากพบว่าเป็นหน่วยรับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณได้โดยตรง หากมีใช่ ให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
2) ให้หน่วยรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เร่งรัดดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 และเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หรือไม่เกินเดือนมกราคม 2565 โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป
3) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย
ในการนี้ สทนช. ได้พิจารณาดำเนินการและกำหนดแนวทางปฏิบัติงานตามความเห็นของสำนักงบประมาณดังกล่าวข้างต้นแล้ว โดยสรุปได้ดังนี้
(1) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว สทนช. จะดำเนินการแจ้งหน่วยรับงบประมาณให้เร่งรัดดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยตรงตามขั้นตอนของระเบียบและแนวทางที่เคยปฏิบัติ สำหรับโครงการของจังหวัดซึ่งต้องบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. 2551 สทนช. ได้กำหนดไว้ในแนวทางในการเสนอโครงการตามข้อ 2. ข้อ 8) แล้ว ส่วนแผนงานโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สทนช. ได้แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาตรวจสอบหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการให้สอดคล้องตามความเห็นของสำนักงบประมาณด้วยแล้ว
(2) ในส่วนของการเร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หรือไม่เกินเดือนมกราคม 2565 สทนช. ได้กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในแนวทางในการเสนอโครงการตามข้อ 2. ข้อ 11) แล้ว และจะดำเนินการแจ้งหน่วยรับงบประมาณให้เร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไป
(3) สทนช. ได้กำหนดแนวทางในการติดตาม และประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อรายงานผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบ ไว้ ดังนี้
(3.1) แผนงานของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ให้จังหวัดรายงานผลการเสนอของบประมาณ การขอรับจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการดำเนินโครงการให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทราบทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน
(3.2) แผนงานของหน่วยงาน ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรายงานผลการเสนอของบประมาณ การขอรับจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการดำเนินโครงการให้กระทรวงต้นสังกัดและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทราบ ทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน
(3.3) แผนงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรายงานผลการเสนอของบประมาณ การขอรับจัดสรรงบประมาณ รวมถึงการดำเนินโครงการให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทราบ ทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน
6. จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น สทนช. จึงขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,851.2251 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกันการเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 จำนวน 3,378 รายการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ จำแนกตามกระทรวงและหน่วยงาน ได้ดังนี้
ที่ |
กระทรวง/หน่วยงาน/รายการ |
จำนวน (รายการ) |
วงเงิน (ล้านบาท) |
||
รวมทั้งสิ้น |
3,378 |
3,851.2251 |
|||
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ |
1,051 |
1,594.7865 |
|||
กรมชลประทาน |
1,051 |
1,594.7865 |
|||
1. |
โครงการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
1,004 |
1,411.8005 |
||
2. |
โครงการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
10 |
93.9500 |
||
3. |
โครงการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
34 |
78.0460 |
||
4. |
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม |
3 |
10.9900 |
||
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
1,572 |
1,661.9661 |
|||
กรมทรัพยากรน้ำ |
25 |
67.1450 |
|||
1. |
โครงการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
17 |
42.1980 |
||
2. |
โครงการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
2 |
12.2000 |
||
3. |
โครงการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
6 |
12.7470 |
||
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล |
1,547 |
1,594.8211 |
|||
1. |
โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน |
334 |
1,538.5990 |
||
2. |
โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทั่วประเทศ |
44 |
14.9426 |
||
3. |
โครงการฟื้นฟูสภาพบ่อน้ำบาดาลเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง |
1,169 |
41.2795 |
||
กระทรวงมหาดไทย |
755 |
594.4725 |
|||
จังหวัด |
185 |
138.5377 |
|||
1. |
โครงการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
1 |
4.8450 |
||
2. |
โครงการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
7 |
2.6518 |
||
3. |
โครงการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
176 |
130.6119 |
||
4. |
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ |
1 |
0.429 |
||
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
570 |
455.9348 |
|||
1. |
โครงการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
6 |
3.6030 |
||
2. |
โครงการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
43 |
30.0421 |
||
3. |
โครงการขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเก็บกักน้ำ |
325 |
318.9305 |
||
4. |
โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค |
120 |
46.8868 |
||
5. |
โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นทั่วประเทศ |
28 |
18.3774 |
||
6. |
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำ |
48 |
38.0950 |
โดย สทนช. ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาด้วยแล้ว ภายใต้กรอบวงเงินที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบไว้แล้ว และจะแจ้งให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อป้องกัน การเกิดอุทกภัย ปี 2564 และบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2564/2565 ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลา รวมถึงให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หนังสือเวียน มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 14 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9484
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ