ผลการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 07 September 2021 22:25
- Hits: 745
ผลการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ของสภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกใหม่ ของสภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 การบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 การบริหารจัดการด้านแรงงานต่างด้าว และการบริหารจัดการด้านข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ควรมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเป็นรูปธรรม และมีการจัดตั้งสถานกักกันในรูปแบบขององค์กรซึ่งเป็นสถานที่ของหน่วยงานนั้นสำหรับกักกันบุคลากรของหน่วยงานที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ รวมทั้งสถานที่กักกันโรคท้องที่สำหรับผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัดโดยเร็วควรกำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อกำหนดมาตรการที่ใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่นั้นๆ
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎร ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สธ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. มาตรการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ควรมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเป็นรูปธรรมและมีการจัดตั้งสถานกักกันในรูปแบบขององค์กรซึ่งเป็นสถานที่ของหน่วยงานนั้น |
สธ. โดยกรมควบคุมโรค ได้กำหนดขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการการจัดตั้งสถานกักกันในรูปแบบขององค์กร (Organizational Quarantine: OQ) วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการกักกันผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งที่มีสัญชาติไทย หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเฉพาะที่เป็นสมาชิกขององค์กรที่เดินทางมาปฏิบัติภารกิจขององค์กร ตัวอย่างเช่น ทำงานตามสัญญาจ้างและมีเอกสารจ้างงาน กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา การฝึกทางการทหาร เป็นต้น |
|
2. การบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ควรกำหนดพื้นที่เสี่ยง เพื่อกำหนดมาตรการที่ใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่นั้นๆ เช่น หากพื้นที่ใดมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ควรกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง และสามารถใช้มาตรการที่รุนแรงที่สุด คือการ Lockdown ได้ เป็นต้น |
มท. เห็นว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีการ Lockdown ควรกำหนดหลักเกณฑ์และเหตุผลในการ Lockdown โดยคำนึงถึงความสมดุลในการกักกันโรคกับเศรษฐกิจ ถ้า Lockdown เป็นเวลานานเกินไปจะส่งผลให้เกิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ถ้า Lockdown เป็นเวลาน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถกักกันโรคได้ |
|
3. การบริหารจัดการด้านแรงงานต่างด้าว ควรมีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนแรงงานต่างด้าว และจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ |
รง. โดยกรมการจัดหางาน ได้มีการเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าว ได้แก่ ชื่อ เพศ วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่หนังสือเดินทาง ข้อมูลนายจ้าง/สถานประกอบการ ประเภทกิจการ ตำแหน่ง ฯลฯ ซึ่งจำนวนคนต่างด้าวคงเหลือ ณ ธันวาคม 2563 ที่ทำงานในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 2,512,328 คน ได้แก่ คนต่างด้าวประเภทฝีมือ จำนวน 142,996 คน คนต่างด้าวประเภทตลอดชีพ จำนวน 68 คน ชนกลุ่มน้อย จำนวน 64,166 คน คนต่างด้าวประเภททั่วไป จำนวน 2,305,098 คน อว. รายงานว่า จากการศึกษาจะเห็นว่าแรงงานต่างชาติจะมีส่วนเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังจากโควิด 19 อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติมากเกินไปอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวได้ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจชะลอการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางต่อไป |
|
4. การบริหารจัดการด้านข้อมูลข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะตามความเป็นจริง ชัดเจน เร่งด่วน และฉับพลัน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็นเพื่อป้องกันความสับสนของประชาชนโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดและสาธารณสุขจังหวัดจะต้องมีการชี้แจงข้อเท็จจริงโดยตลอดเป็นระยะๆ |
ดศ. รายงานว่า “ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม” มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ข้อมูลที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ และระบบอินเทอร์เน็ตที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ต่อประชาชนโดยตรงหากวิเคราะห์แล้วมีแนวโน้มว่าอาจเป็นข่าวปลอม จะทำการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อมูล และดำเนินการเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้แก่ เว็บไซต์, Line, Facebook, Twitter ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไปโดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง |
|
5. ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศธ. ต้องดูแลป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ไปสู่นักเรียนนักศึกษา ซึ่งมีจำนวนมากในสถานศึกษา |
ศธ. เห็นชอบต่อข้อเสนอแนะดังกล่าว เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษามีเป็นจำนวนมาก และหากเกิดการแพร่ระบาดในสถานศึกษาจนต้องปิดเรียน จะทำให้เกิดปัญหาด้านการศึกษาและส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็ก อาทิ การใช้เวลาหน้าจอมากเกินไป ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และอาจก่อให้เกิดความเครียดทั้งเด็กและครู รวมไปถึงเกิดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เป็นต้น |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9218
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ