ผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 11
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 07 September 2021 21:28
- Hits: 1757
ผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 11
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 11และพิจารณามอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามตารางติดตามผลการประชุมฯ ต่อไป ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ (นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี) เข้าร่วมการประชุมฯ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมฯ
1.1 ที่ประชุมฯ ชื่นชมพัฒนาการของกรอบความร่วมมือฯ ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนบทบาทของสาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ในการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะโครงการที่ได้ผลเร็ว การจัดสรรสินเชื่อในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยง สาธารณูปโภค ชลประทาน และการศึกษา รวมทั้งการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อส่งเสริมการลงทุนของอินเดียในประเทศลุ่มน้ำโขง
1.2 ไทยมีข้อเสนอแนะในประเด็นต่างๆ เช่น การเร่งส่งเสริมความสำคัญของกรอบความร่วมมือฯ ในเชิงยุทธศาสตร์และผลักดันความร่วมมือระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับอินเดียให้มีผลงานอย่างเต็มศักยภาพ การจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ทดแทนฉบับเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2565 และการกำหนดประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักของสาขาความร่วมมือให้ครบทั้ง 10 สาขา โดยไทยพร้อมจะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในสาขาสาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มเติมจากเดิมที่ไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในสาขาการท่องเที่ยว
1.3 ที่ประชุมฯ ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินความร่วมมือร่วมกันในอนาคต เช่น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การเร่งรัดการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมอินเดีย-เมียนมา-ไทย (โครงการถนนสามฝ่าย) การจัดเวทีหารือภาคธุรกิจของกรอบความร่วมมือฯ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับยุคดิจิทัล และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและวัฒนธรรม
1.4 ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-คงคา ครั้งที่ 11 โดยสาระสำคัญของเอกสารไม่แตกต่างจากร่างเอกสารฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไว้ (20 กรกฎาคม 2564)
2. กต. มีข้อสังเกตและข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรอบความร่วมมือฯ เน้นความช่วยเหลือที่อินเดียให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยไทยสามารถร่วมกับอินเดียในการฟื้นคืนกรอบความร่วมมือฯ ให้มีบทบาทสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งส่งเสริมการสอดประสานกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) และความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC)
3. ผลการประชุมฯ และเอกสารผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของกรอบความร่วมมือฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานไทย เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ฉบับใหม่ การเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข และการเร่งรัดโครงการถนนสามฝ่าย จึงมีประเด็นที่ต้องมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9207
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ