การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 7 (7th GMS Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 07 September 2021 21:21
- Hits: 3328
การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 7 (7th GMS Summit) ผ่านระบบการประชุมทางไกล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (The Greater Mekong Subregion Economic Coordination : GMS) ครั้งที่ 7 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ได้แก่ 1) ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7 2) ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และ 3) ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2566 ซึ่งเป็นการรับรองโดยไม่มีการลงนาม โดยให้ สศช. สามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับ โดยไม่มีการลงนาม ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 ผ่านระบบการประชุมทางไกลมีกำหนดจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 ภายใต้หัวข้อหลัก “แผนงาน GMS : พลิกฟื้นความแข็งแกร่งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในทศวรรษใหม่” ซึ่งราชอาณาจักรกัมพูชาร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ได้จัดส่งหนังสือกลาง (Note Verbale) ผ่านช่องทางทางการทูตเพื่อเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวและนายกรัฐมนตรีได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมเรียบร้อยแล้ว
2. ประเด็นหารือและข้อเสนอของประเทศไทยในการประชุมฯ จะเน้นย้ำเจตนารมณ์การพัฒนาแผนงาน GMS ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นอนุภูมิภาคที่มีการบูรณาการมากขึ้น มีความเจริญรุ่งเรือง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง” โดยสานต่อความสำเร็จของเสาหลักความร่วมมือ 3 ด้าน (3Cs) อย่างต่อเนื่อง คือ ด้านความเชื่อมโยง (Connectivity) ด้านความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) และด้านความเป็นประชาคม (Community)
3. เอกสารผลลัพธ์ที่จะมีการรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS ครั้งที่ 7 ผ่านระบบการประชุมทางไกล รวม 3 ฉบับ ได้แก่
1) ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7 มีสาระสำคัญเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในอนุภูมิภาค GMS ผ่านการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่เท่าเทียม เปิดกว้าง ครอบคลุม ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
2) ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (GMS 2030) ได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาอนุภูมิภาคในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมีวัตถุประสงค์ให้แผนงาน GMS มีกลไกเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการหารือเชิงนโนบายในระดับสูง การส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการกำหนดมาตรฐานด้านกฎระเบียบให้เป็นแบบเดียวกัน เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการสาธารณะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
3) ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 -2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือของประเทศสมาชิกในประเด็นที่ต้องอาศัยการบูรณาการในระดับอุนภูมิภาค เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการแพร่ระบาดฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การเข้าร่วมการประชุมระดับสุดยอดผู้นำแผนงาน GMS จะเป็นโอกาสของประเทศไทย เช่น (1) นำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาคและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในภูมิภาค และ (2) หารือแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาอนุภูมิภาค GMS ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9204
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ