การร่วมรับรองและให้ความเห็นชอบเอกสารและท่าทีไทยในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 07 September 2021 21:18
- Hits: 3711
การร่วมรับรองและให้ความเห็นชอบเอกสารและท่าทีไทยในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารที่จะให้การรับรองและให้ความเห็นชอบ จำนวน 14 ฉบับ และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าว ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองเอกสารในข้อ 1) จำนวน 3 ฉบับ และให้ความเห็นชอบเอกสารในข้อ 2) จำนวน 11 ฉบับ ในฐานะรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM)
3. ให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในฐานะคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองเอกสารร่างกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป
4. เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมแสดงความยินดีต่อเจตจำนงการขอเข้าร่วมสมาชิกความตกลง AANZFTA ของชิลี และไม่ขัดข้องหากภาคีสมาชิกเห็นชอบให้เพิ่มข้อบทในการเปิดรับสมาชิกใหม่เป็นการทั่วไป (open accession clause)
สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะให้การรับรองและให้ความเห็นชอบ
กระทรวงพาณิชย์ขอเสนอเอกสารจำนวน 14 ฉบับ ที่จะมีการรับรอง จำนวน 3 ฉบับ และให้ความเห็นชอบจำนวน 11 ฉบับ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 53 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
1) ร่างเอกสารที่จะให้การรับรอง จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1.1 ร่างกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการกำหนดขอบเขตงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนสามารถนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ประกอบด้วยมาตรการสำคัญเชิงกลยุทธ์ 5 ด้าน ได้แก่ (1) การปรับประสานมาตรฐานและการยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการแบบหมุนเวียน (2) การเปิดกว้างทางการค้าและการอำนวยความสะดวกในการค้าสินค้าและการค้าบริการ (3) ส่งเสริมบทบาทของนวัตกรรม การใช้ประโยซน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีสีเขียวและเทคโนโลยีใหม่ๆ (4) ส่งเสริมระบบการเงินที่แข่งขันได้อย่างยั่งยืน และการลงทุนที่มีนวัตกรรม (5) การใช้พลังงานและทรัพยากรอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
1.2 ร่างแผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน เป็นข้อเสนอของบรูไนดารุสซาลามเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะสั้นและกลาง ระหว่างปี 2564-2568 ในการสนับสนุนวาระการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน โดยเร่งกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การฟื้นฟู (Recovery) (2564-2565) ระยะที่ 2 การเร่งขับเคลื่อนการดำเนินการให้มีความคืบหน้า (Acceleration) (2565-2567) และระยะที่ 3 การเปลี่ยนแปลง (Transformation) (2568)
1.3 ร่างแถลงการณ์ร่วมเรื่องการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระหว่างอาเซียนและจีนในการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน อาทิ การส่งเสริมการจัดตั้งกลไกหารือสำหรับภาคอุตสาหกรรมในสาขาต่างๆ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เภสัชกรรม ยานยนต์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน- จีน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกด้านการค้าและเศรษฐกิจในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตและการเข้าถึงยาและวัคซีน แนวทางการยกระดับความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย ครอบคลุม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิก ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อให้สามารถมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 1 มกราคม 2565 ตามที่กำหนดไว้
2) ร่างเอกสารที่จะให้ความเห็นชอบ จำนวน 11 ฉบับ ดังนี้
2.1 ร่างการพัฒนาแผนการดำเนินการในการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดขั้นตอนที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องดำเนินการในระยะ 5 ปี (2564-2568) สำหรับการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงฯ และสร้างความมั่นใจว่าการขยายตัวด้านดิจิทัลของอาเซียนจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนโอกาสในการเติบโตต่อไปในอนาคต โดยข้อเสนอและกิจกรรมภายใต้แผนการดำเนินการฯ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และสามารถปรับปรุงได้ในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
2.2 ร่างบัญชีรายการสินค้าจำเป็นในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร อาทิ สัตว์น้ำ พืชผัก อาหารแปรรูป จำนวน 107 รายการ เพื่อขยายรายการสินค้าเพิ่มเติมในบัญชีแนบท้ายบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 2-3 มีนาคม 2564 ที่ให้ขยายรายการสินค้าจำเป็นแนบท้ายบันทึกความเข้าใจฯ ที่ประเทศสมาชิกจะไม่ริเริ่ม หรือคงมาตรการที่มิใช่ภาษีที่จำกัดการค้าต่อสินค้าจำเป็นเท่าที่จะทำได้ ไปยังสินค้าเกษตรและอาหารพื้นฐานอย่างน้อย 100 รายการ โดยไม่ได้มีการแก้ไขสาระของบันทึกความเข้าใจ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 อนึ่งบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และทุกประเทศยังคงสิทธิดำเนินการได้ตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ทุกประการ
2.3 ร่างเอกสารเครื่องมือในการประเมินต้นทุน – ประสิทธิภาพของมาตราการที่มิใช่ภาษีสำหรับอาเซียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือหรือแนวทางแก่อาเซียนในการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Measure: NTMs) ที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน รวมกำหนดแนวทาง การปรับปรุงมาตรการ NTMs ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยต้นทุนการดำเนินการที่น้อยที่สุดโดยการนำไปปฏิบัติจะอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ (voluntary basis)
2.4 ร่างภาคผนวก 7 และภาคผนาก 8 ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เป็นการปรับปรุงแก้ไขข้อบทระเบียบวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (CO Form) เพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของอาเซียนให้รองรับบริบททางการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ เพิ่มเติมข้อบทเพื่อรองรับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยประเทศผู้ส่งออกคนกลาง กรณีที่มีหลักฐานรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับแรกมากกว่า 1 ฉบับ การยกเลิกการทำสำเนาหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบคาร์บอน และการยกเลิกการระบุช่องโครงการความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของอาเซียน (ASEAN Industrial Cooperation Scheme: AICO) ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ถูกยุติลงแล้ว
2.5 ร่างดัชนีการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นตามดัชนีบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อใช้วัดประสิทธิภาพและผลกระทบของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ประกอบด้วย 6 ดัชนีหลัก ได้แก่ โลจิสติกส์และการค้าดิจิทัล การคุ้มครองข้อมูล และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การชำระเงินดิจิทัลและตัวตนดิจิทัล ทักษะดิจิทัลและผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล นวัตกรรมและผู้ประกอบการ และความพร้อมเชิงสถาบันและโครงสร้างพื้นฐาน โดยรายงานฯ จะใช้เป็นแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปของอาเซียนในการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) โดยนำเสนอผลการศึกษาที่สำคัญ และข้อเสนอแนะในการเสริมความแข็งแกร่งในการบูรณาการด้านดิจิทัลในภูมิภาค
2.6 ร่างแผนการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา และการขยายการมีส่วนร่ามทางเศรษฐกิจ ปี 2564 - 2565 เป็นแผนงานความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2549 ซึ่งช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ โดยแผนงานดังกล่าวจะดำเนินงานต่อเนื่องในระยะปี 2564 - 2565 ประกอบด้วยความร่วมมือในด้านต่างๆ อาทิ การค้าดิจิทัล แนวทางความโปร่งใสการจัดทำกฎระเบียบที่ดี การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย ความร่วมมือด้านกฎระเบียบเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร แรงงาน และสิ่งแวดล้อม
2.7 ร่างแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ปี 2564 - 2565 เป็นแผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) โดยดำเนินกิจกรรมสำคัญ เช่น การจัดประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามเพื่อหารือเกี่ยวกับการเพิ่มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับคู่เจรจา โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการค้าและ การลงทุนระหว่างอาเซียนบวกสาม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) การติตตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
2.8 ร่างแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน อาเซียน-รัสเซีย เป็นแผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนและรัสเชีย สนับสนุนความร่วมมือในสาขาที่มีความสนใจร่วมกันในด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงด้านกฎระเบียบทางเทคนิค มาตรฐานและกระบวนการประเมินความสอดคล้องมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการเยียวยาทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และด้านอื่นๆ
2.9 ร่างแผนดำเนินงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย สำหรับปี 2564 - 2568 เป็นแผนการดำเนินงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-รัสเซีย สำหรับปี 2564 - 2568 ภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน อาเซียน-รัสเชีย โดยกำหนดกิจกรรมและการดำเนินงานพร้อมกรอบระยะเวลา
2.10 ร่างแผนงานภายใต้บทที่ 9 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการของความตกลงการค้าเสรี อาเซียน – ฮ่องกง เป็นเอกสารอ้างอิงในการให้แนวทางสำหรับการดำเนินงานของโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (ECOTECH) ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม 5 สาขา ได้แก่ พิธีการศุลกากร บริการวิชาชีพ การอำนวยความสะดวกทางการค้า/โลจิสติกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยต่อมาอาเซียนและฮ่องกงเห็นชอบในหลักการต่อการขยายขอบเขตเพิ่มเติมอีก 5 สาขา ได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรฐาน/กฎระเบียบทางเทคนิค/กระบวนการประเมินความสอดคล้องทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการส่งเสริมการลงทุน
2.11 ร่างแผนงานด้านการค้าและการลงทุนอาเซียน-สหภาพยุโรป (ปี 2563 - 2564) เป็นเอกสารกำหนดแผนดำเนินงานเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปในระยะเวลา 2 ปี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 7 กันยายน 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9203
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ