ขอความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 01 September 2021 00:11
- Hits: 11395
ขอความเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 – 2565) (แผนปฏิบัติการฯ) และมอบหมายให้ พณ. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ปัจจุบันการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่ทวีความสำคัญมากขึ้น อันเป็นผลจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้เทคโนโลยีทั่วโลก จึงสมควรที่ประเทศไทยจะมีแผนการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (ปี พ.ศ. 2560 - 2564) เพื่อคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (แต่งตั้งตามคำสั่งของ พณ.) จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีและจัดทำร่างแผนปฏิบัติการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติต่อไป
2. คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ดำเนินการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565) และแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ โดยมีกรอบแนวคิดจากการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ และแผนระดับชาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มีการขอรับความคิดเห็นจากคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมของวุฒิสภา หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ แล้วเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาตามแนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (แผนระดับที่ 3) ซึ่ง สศช. ได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนี้
2.1 คณะอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (คณะอนุกรรมการฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบให้นำร่างแผนปฏิบัติการฯ พร้อมความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ เสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) พิจารณา โดยคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นบางส่วนสรุปได้ ดังนี้
2.1.1 การกำหนดเป้าหมายของแผนปฏิบัติการฯ ควรให้ความสำคัญกับ (1) การเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของภาครัฐ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ (2) การเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเท่าเทียมกันของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยและต่างประเทศ และ (3) การลงทุนในระบบ Cloud Computing System โดยกำหนดเป็นเป้าหมายลำดับรองเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง
2.1.2 นอกเหนือจากการส่งเสริมแพลตฟอร์มขายสินค้า ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแพลตฟอร์มขายบริการ เช่น ธุรกิจจองที่พักให้แก่นักท่องเที่ยว (Online Travel Agent : OTA) ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาจเพิ่มเติมเป็นแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship)
2.1.3 ขอให้ปรับชื่อกลยุทธ์ที่ 2.2 พัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์และบริการสนับสนุนโลจิสติกส์ (Logistics Fulfillment) และกลยุทธ์ที่ 2.3 พัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยปรับจาก “พัฒนา” เป็น “สนับสนุนการพัฒนา” เนื่องจากภาครัฐควรทำหน้าที่สนับสนุนและเชื่อมโยงผู้ให้บริการภาคเอกชนด้วยกันเพื่อให้มีระบบที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากกว่าดำเนินการเอง
2.2 สภาพัฒนาฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการฯ โดยให้คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รับความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมในรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยสภาพัฒนาฯ มีความเห็นบางส่วนสรุปได้ ดังนี้
2.2.1 ควรให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งควรสร้างความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
2.2.2 ภาครัฐต้องจัดลำดับความสำคัญและเร่งรัดให้มีการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ อย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมภาคเอกชนให้ดำเนินการแทนในเรื่องที่รัฐมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในด้านงบประมาณและข้อมูล อีกทั้งควรกำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน
ทั้งนี้ พณ. ได้นำความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และสภาพัฒนาฯ ไปพิจารณาปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ แล้ว
3. แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วิสัยทัศน์ |
พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทย ภายใต้ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) |
เป้าหมายหลัก |
- มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 - มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2565 - มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ (Outbound Cross Border e-Commerce) เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2565 - มีการเชื่อมโยงข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐและเอกชน และเกิดการ บูรณาการในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ร่วมกัน เพื่อสามารถนำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินการของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
เป้าหมายรอง |
- จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย - สภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT (เช่น Cloud Computing System ที่มีประสิทธิภาพสูง) โลจิสติกส์ การเงิน และ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 10 โครงการต่อปี |
ยุทธศาสตร์ |
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศและการค้าข้ามพรมแดน (Enhancement and Promotion) เป้าประสงค์ เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปี ของแผนปฏิบัติการฯ และ (2) ผู้ประกอบการที่พัฒนา e-Commerce Platform ในรูปแบบต่างๆ และผู้ให้บริการดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งได้จดทะเบียนนิติบุคคล และเป็นของคนไทย มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ตลอดช่วง 2 ปี ของแผนปฏิบัติการฯ ตัวชี้วัด เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 ล้านล้านบาท ในปี พ.ศ. 2565 และ (2) ผู้ประกอบการที่พัฒนา e-Commerce Platform ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้จดทะเบียนนิติบุคคลและเป็นของคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) เป้าประสงค์ เช่น (1) มีสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนที่เพียงพอเหมาะสม และครบวงจรต่อการดำเนินงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (2) มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเกิดการบูรณาการในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ร่วมกัน เพื่อสามารถนำ Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดำเนินงานของภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวชี้วัด เช่น สภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT โลจิสติกส์ การเงิน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 10 โครงการต่อปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability) เป้าประสงค์ เช่น (1) สร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้ประกอบการในการประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ (2) สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างปลอดภัย ตัวชี้วัด เช่น จำนวนการออกเครื่องหมายรับรองผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 ราย ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building) เป้าประสงค์ เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ (2) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ (Outbound Cross Border e-Commerce) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปี ของแผนปฏิบัติการฯ ตัวชี้วัด เช่น (1) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศของผู้ประกอบการ SMEs เติบโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี และ (2) มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนด้านการขายต่างประเทศ (Outbound Cross Border e-Comme e) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อปี |
กลยุทธ์ |
รวม 14 กลยุทธ์ |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมสรรพากร กระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมการท่องเที่ยว กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ |
กลไกการขับเคลื่อน |
กลไกขับเคลื่อนที่ 1 : การจัดทำแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่เป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่ระบุไว้ในแต่ละยุทธศาสตร์ของแผนฯ มีบทบาทหน้าที่ในการจัดส่งข้อมูลแผนงาน กิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการตามกรอบที่กำหนดไว้ให้แก่ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กลไกขับเคลื่อนที่ 2 : การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจสาระสำคัญและรายละเอียดของแผนปฏิบัติการฯ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดการมองเห็นความสำคัญในการมีส่วนร่วม ความเข้าใจและความคิดริเริ่มในการจัดทำกิจกรรม และโครงการที่ตอบสนองต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ กลไกขับเคลื่อนที่ 3 : การกำหนดตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) และการจัดทำแผนบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การหารือร่วมกับหน่วยงานหลักที่กำหนดไว้ในแต่ละยุทธศาสตร์ของแผนฯ เพื่อให้หน่วยงานบรรจุแผนงาน/โครงการที่เกี่ยวข้องไว้ในแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน แนวทางการสนับสนุนให้ได้งบประมาณในการดำเนินงาน และกำหนดเป้าหมายหรือตัวชี้วัดร่วม (Joint KPI) ที่พึงต้องบรรลุร่วมกันสำหรับนำมาเป็นกรอบในการจัดทำแผนบูรณาการรายยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนการส่งเสริมภาคเอกชนให้ดำเนินการแทนในเรื่องที่ภาครัฐมีข้อจำกัด กลไกขับเคลื่อนที่ 4 : การอาศัยกลไกการประสานงาน การติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดกลไกการประสาน ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ จากการดำเนินกิจกรรมและโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฯ พิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น และรายงานผลการดำเนินงานแก่คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อพิจารณาต่อไป |
4. พณ. ได้จัดทำแผนงานกิจกรรม/โครงการสำคัญ (Flagship) ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ มาด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรม/โครงการที่ต้องเร่งดำเนินการ ลงลึกในระดับปฏิบัติการในระยะ 2 ปี (พ.ศ. 2564 – 2565)ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินงานตามภารกิจเฉพาะของหน่วยงาน (โครงการ Buttom up) และโครงการศึกษาขึ้นเพิ่มเติม (โครงการ Top Down) โดยมีรายละเอียดตัวอย่างโครงการบางส่วนที่สอดคล้องกับแต่ละยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ (e-Marketplace) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในประเทศ และการค้าข้ามพรหมแดน (Enhancement and Promotion) |
|
โครงการ Buttom up |
- โครงการพัฒนาแพลตฟอร์ม National Delivery เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการในยุควิถีใหม่ (New Normal) - โครงการส่งเสริมการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านอาหารและการท่องเที่ยว (Digital Food Tourism) เพื่อสร้างโอกาสในยุค Post-COVID |
โครงการ Top Down |
- โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศและพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนที่เทียบเท่า e-Marketplace ประเภท Super Application ที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ (ปี 2565) - โครงการศึกษาและติดตามแนวทางการจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่ได้จากการประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวทางขององค์การระหว่างประเทศ เช่น OECD และ UNCTAD และประเทศต่างๆ ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่ได้จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ปี 2565) |
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาสภาพแวดล้อมและปัจจัยสนับสนุนการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในทุกด้านให้พร้อมรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Ecosystem and Enabling Factors) |
|
โครงการ Buttom up |
- โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax และ e-Tax Invoice & e-Receipt) - โครงการส่งเสริมการพัฒนาบริการและขยายเครือข่ายของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ - โครงการผลักดันและส่งเสริมการใช้บริการ Interoperable QR Code for Payments ในธุรกรรมชำระเงินสำหรับ E-Commerce |
โครงการ Top Down |
- โครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์และบริการสนับสนุนโลจิสติกส์ (Logistics Fulfillment) ให้ปรับตัวเข้าสู่การใช้ดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ (ปี 2564 - 2565) - โครงการพัฒนาระบบชำระเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมทางการเงินของแพลตฟอร์มการค้า (ปี 2564 – 2565) - โครงการพัฒนาบริการชำระเงินเพื่อสนับสนุนให้ SMEs E-Commerce และ Social Commerce ใช้ Digital Payment ได้สะดวก มีความเชื่อมั่น ลดการใช้เงินสด (ปี 2565) |
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเชื่อมั่นในธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Trust and Sustainability) |
|
โครงการ Buttom up |
- โครงการสัมมนาความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิทัล (ปี 2564) - โครงการศึกษาแนวทางในการกำกับดูแลการซื้อขายออนไลน์ (ปี 2564) |
โครงการ Top Down |
- โครงการรณรงค์และจัดทำมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ปี 2564) |
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถใช้ประโยชน์จากธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Competency Building) |
|
โครงการ Buttom up |
- โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy Academy) - โครงการพัฒนาสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ Offline 2 Online (B2C) |
โครงการ Top Down |
- โครงการรวมพลังช่วย SMEs ฝ่าโควิดพิชิตวิถีใหม่ (New Normal) (ปี 2564) - โครงการนำผู้ประกอบการพัฒนาแพลตฟอร์มไทยเข้าร่วมงานแสดงแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในต่างประเทศ (ปี 2565) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A81048
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ