กรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 31 August 2021 22:26
- Hits: 1336
กรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework : AIFF) และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ร่าง AIFF ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย อนุมัติให้ สกท. พิจารณาคำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. ให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรอง AIFF แบบไม่มีการลงนาม [สกท. แจ้งเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) จะเป็นผู้ร่วมให้การรับรองเอกสารดังกล่าว]
[จะมีการพิจารณาร่าง AIFF ในการประชุมร่วมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและคณะมนตรีเขตการลงทุนอาเซียนครั้งที่ 24 (ASEAN Economics Ministers-24th ASEAN Investment Area Council Meeting: AEM-24th AIA Council Meeting) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564]
สาระสำคัญของเรื่อง
สกท. รายงานว่า
บรูไนดารุสซาลาม (บรูไนฯ) ในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 ได้กำหนดให้การจัดทำกรอบ AIFF เป็นหนึ่งในประเด็นด้านเครษฐกิจที่จะผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2564 (2021 Priority Economic Deliverables โดยบรูไนฯ และสำนักเลขาธิการอาเซียนได้ร่วมกันจัดทำร่าง AIFF เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุน (Coordinating Committee on Investment: CCI) เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณา ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ CCI ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเนื้อหาของร่าง AIFF และที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาของร่าง AIFF ร่วมกันแล้ว โดยเห็นว่า สาระสำคัญของร่าง AIFF จะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งเนื้อหาของร่าง AIFF มิได้ระบุถ้อยคำที่มุ่งหมายให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจะนำร่าง AIFF เสนอต่อที่ประชุม AEM-24TH AIA Council Meeting ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2564 เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบในเนื้อหาร่วมกันและพิจารณารับรอง (ไม่ลงนาม)
ร่าง AIFF มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
การให้ความสำคัญ |
การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนในฐานะเสาหลักสำคัญของการลงทุนที่นำไปสู่ การรักษาและการเติบโตของการลงทุนในประเทศ ผ่านการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนในการจัดตั้ง ดำเนินการ และขยายการลงทุนและธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่สภาพแวดล้อมภายหลังวิกฤติการระบาดของโควิด-19 |
|
การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนมีสาระสำคัญครอบคลุม 11 หัวข้อ ได้แก่ |
(1) ความโปร่งใสของมาตรการและข้อมูล เช่น การเข้าถึงได้ของมาตรการบังคับใช้ทั่วไปและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในรัฐสมาชิกที่เกี่ยวข้อง (2) การปรับปรุงและเร่งรัดขั้นตอนการปฏิบัติและข้อกำหนดต่างๆ เช่น มาตรการบังคับใช้ทั่วไปเกี่ยวกับการลงทุนมีการนำไปยังใช้อย่างสมเหตุสมผล ตรงตามวัตถุประสงค์ และเป็นธรรม ขั้นตอนด้านการลงทุนไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถของผู้ลงทุนในการลงทุน ข้อกำหนดด้านเอกสารไม่ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายที่วางไว้ของรัฐสมาชิก เป็นต้น (3) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต เช่น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพัฒนากระบวนการรับคำขอด้านการลงทุน การอนุมัติการต่ออายุ และการดูแลหลังการลงทุน สนับสนุนการใช้สำเนาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายภายในประเทศต่างๆ ของแต่ละรัฐสมาชิกแทนการใช้เอกสารต้นฉบับ ส่งเสริมทางเลือกในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บโดยหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลด้านการลงทุน เป็นต้น (4) แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ เช่น สนับสนุนให้ลดข้อกำหนดสำหรับผู้ยื่นคำขอในการประสานติดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งหน่วยงานสำหรับการขออนุญาตลงทุนในเขตแดนของรัฐสมาชิกนั้นๆ สนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ลงทุนเพื่อชำระค่าธรรมเนียมและภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตเข้าไปลงทุน จัดตั้ง ควบรวม และขยายการลงทุน เป็นต้น (5) บริการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ลงทุน เช่น การจัดให้มีบริการช่วยเหลือผู้ลงทุนในขอบเขตที่สามารถทำได้เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยว ข้องกับการลงทุน พิจารณาจัดตั้งกลไกในการให้ข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่มีอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบบ่อยซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน เป็นต้น (6) ความเป็นอิสระของหน่วยงานที่มีอำนาจ เช่น เมื่อจำเป็นต้องมีการขออนุญาตในการลงทุน หน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการและตัดสินใจอย่างเป็นอิสระจากองค์กรใดๆ สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องได้รับการขออนุญาตในการลงทุนนั้นได้ เป็นต้น (7) การเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุน เช่น สนับสนุนให้อำนวยความสะดวกโดยเร่งดำเนินการเกี่ยวกับคำขอเข้าเมืองและการพำนักอยู่เป็นการชั่วคราวของนักธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์ในการลงทุนภายในระยะเวลาอันสมควร เป็นต้น (8) การอำนวยความสะดวกด้านปัจจัยสนับสนุนการลงทุน โดยช่วยเหลือผู้ลงทุนในการบ่งซี้ปัจจัยสนับสนุนการลงทุน เช่น แรงงาน แหล่งเงินทุน ผู้ผลิตภายในประเทศ และโอกาสในการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น (9) กลไกการให้คำปรึกษาสำหรับนโยบายการลงทุน เช่น สนับสนุนให้มีกลไกสำหรับการปรึกษาและสนทนาอย่างสม่ำเสมอกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้ความสนใจ โดยรวมถึงผู้ลงทุนและหน่วยงานภาคเอกชน เป็นต้น (10) ความร่วมมือ เช่น อำนวยความสะดวกด้านการติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับรัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เป็นต้นและ (11) การดำเนินการ ตามกรอบ AIFF ฉบับนี้ และแจ้งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ CCI ทราบอย่างสม่ำเสมอ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A81039
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ