การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 24 August 2021 20:21
- Hits: 1875
การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบจัดโครงสร้างแบ่งส่วนราชการใหม่ของสำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางในภูมิภาคต้องไม่มีหน่วยงานของกรมที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนกลางในภูมิภาค และ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ต้องมีข้อเสนอให้ยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เพื่อมิให้เกิดความช้ำซ้อนทั้งในด้านภารกิจและงบประมาณ และรับทราบการกำหนดตัวชี้วัดสำคัญเพื่อวัดความสำเร็จการแบ่งส่วนราชการใหม่ โดยให้ สงป. รายงานผลประเมินตามตัวชี้วัดดังกล่าวเสนอ ก.พ.ร. พิจารณาเพื่อทบทวนและปรับบทบาทภารกิจของ สงป. ให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป
2. เห็นชอบให้มีการทบทวนและปรับบทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจ และโครงสร้างของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อให้สอดรับกับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใน 1 ปี นับแต่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สงป. มีผลบังคับใช้
3. เห็นชอบให้เพิ่มหลักการการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ของส่วนราชการให้มีข้อเสนอยุบเลิกภารกิจหรือยุบรวมหน่วยงานของส่วนราชการอื่น (X-in, Y-out) สำหรับกรณีภารกิจที่มี Value Chain เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงหลายส่วนราชการ ซึ่งไม่อาจพิจารณาเฉพาะส่วนราชการใดส่วนราชการหนึ่งได้
สาระสำคัญ
ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 พิจารณาคำขอการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของ สงป. แล้ว มีมติ ดังนี้
1. เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของ สงป. โดยจัดตั้ง “สำนักงานงบประมาณเขต” เพิ่มจำนวน 7 เขต ได้แก่ สำนักงานงบประมาณ เขตที่ 12-18 เป็นราชการส่วนกลางในภูมิภาค และการปรับชื่อ ปรับหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการภายใน สงป. รวมทั้งร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. …. โดยให้ สงป. ดำเนินการตามเงื่อนไขสำคัญเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนการดำเนินงาน (Transformation Plan) ในปี 2567 ใน 5 แนวทาง ดังนี้
(1) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดทำงบประมาณของ อปท. (BBL) ให้รองรับการเป็นหน่วยรับงบประมาณตรง
(2) เร่งรัดการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และจัดอบรมสัมมนาให้กับ อปท. ใน 3 หลักสูตร ได้แก่ การปูพื้นฐานล่วงหน้าให้ อปท. ทุกแห่ง การเตรียมความพร้อมให้แก่ อปท. ที่จะเป็นหน่วยรับงบประมาณ และการซ่อมเสริมความเข้มแข็ง ซึ่งจะใช้ระบบ e-Learning, BBL train, Call center, Chatbot และวีดิทัศน์การใช้งาน Online
(3) ปรับวิธีการทำงาน โดยมุ่งพิจารณาจัดสรรงบประมาณแบบ Block Grant มากกว่าพิจารณารายละเอียด และนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงาน
(4) เกลี่ยอัตรากำลังใน สงป.ให้แก่สำนักงานงบประมาณเขต และพัฒนาความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ สงป.
(5) มอบอำนาจเรื่อง การพิจารณาและจัดสรรงบประมาณ รวมทั้งการโอนการเปลี่ยนแปลงงบประมาณของหน่วยงานที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคและ อปท. ที่เบ็ดเสร็จในระดับพื้นที่ ให้กับสำนักงานงบประมาณเขตที่ 1-18 ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2. เห็นชอบให้ สงป. กำหนดตัวชี้วัดสำคัญ เพื่อวัดความสำเร็จการจัดโครงสร้างแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ และให้รายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดสำคัญดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สงป. มีผลบังคับใช้ และประเมินต่อเนื่องทุกปีจนถึงสิ้นปี 2567 ทั้งนี้ ให้รายงานผลตามตัวชี้วัดดังกล่าวต่อ ก.พ.ร. พิจารณาเพื่อทบทวนและปรับบทบาทภารกิจของ สงป. ให้สอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป
3. เห็นชอบให้มีการทบทวนและปรับบทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจ และโครงสร้างของ สถ. เพื่อให้สอดรับกับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไปภายใน 1 ปี นับแต่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สงป. มีผลบังคับใช้
4. เห็นชอบให้ขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี 2 เรื่อง ได้แก่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เรื่อง การปรับปรุงแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ที่กำหนดให้การขอจัดตั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางในภูมิภาคต้องไม่มีหน่วยงานของกรมที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนกลางในภูมิภาคและมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 เรื่อง การทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามแผนการปฏิรูปประเทศ ที่กำหนดให้การจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ต้องมีข้อเสนอยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยงานที่มีอยู่เดิม (One-in, X-out) รวมทั้งเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอเพิ่มหลักการการจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ของ ส่วนราชการ ให้มีข้อเสนอยุบเลิกภารกิจหรือยุบรวมหน่วยงานของส่วนราชการอื่น (X-in, Y-out) สำหรับกรณีภารกิจที่มี Value Chain เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงหลายส่วนราชการ ซึ่งไม่อาจพิจารณาเฉพาะส่วนราชการใดส่วนราชการหนึ่งได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8805
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ