รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 รวม 2 ฉบับ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 24 August 2021 20:09
- Hits: 1352
รายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำปีกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ปรับปรุงรูปเล่ม ปรับเพิ่มเนื้อหาข้อมูลผลสัมฤทธิ์ และประสิทธิภาพการใช้จ่ายของกองทุนฯ ตามความเห็นของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและรายงานประจำปีกองทุนฯ พ.ศ. 2563 รวม 2 ฉบับ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม เสนอ
สาระสำคัญของรายงานฯ
1. รายงานประจำปีกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
1.1 ผลต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการ
1) โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 14.6 ล้านคน ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดสรรสวัสดิการเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดสรรสวัสดิการให้แก่ผู้ลงทะเบียนทุกคนที่เข้ามาลงทะเบียนตามโครงการฯ
2) รัฐบาลได้ดำเนินการจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อย่างรัดกุม โปร่งใส และตรวจสอบได้ เนื่องจากเป็นการเติมวงเงินในบัตรฯ โดยไม่ใช้เงินสด ไม่ผ่านคนกลาง มีวงเงินสม่ำเสมอ และเข้าตรงเวลาทุกเดือน ซึ่งผู้มีบัตรดังกล่าวจะต้องไปใช้จ่ายยังร้านค้าที่กำหนด เช่น ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้เงินที่ภาครัฐใช้จัดสรรสวัสดิการรวม 93,147 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 ไม่รั่วไหล ถึงมือประชาชนทั้งหมดและการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์
1.2 ผลต่อความยากจน
1) การจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตร ฯ ช่วยลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม ข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เส่นความยากจนของประเทศไทย ในปี 2561 อยู่ที่ 2,710 บาทต่อคนต่อเดือน ในขณะที่มูลค่าเฉลี่ยของสวัสดิการพื้นฐานที่จัดสรรให้ผ่านบัตร ฯ อยู่ที่ 2,927.50 บาทต่อคนต่อเดือน และหากผู้มีบัตร ฯ เข้าร่วมมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้มีบัตรฯ จะได้รับวงเงินสวัสดิการ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3,090 บาทต่อคนต่อเดือนซึ่งพ้นเส้นความยากจน
2) ผลจากการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้มีบัตร ฯ พ้นจากเส้นความยากจน (ประมาณ 30,000 บาทต่อคนต่อปี) รวม 1,252,922 ราย
1.3 ผลต่อผู้มีรายได้น้อย
ภาครัฐพิจารณาจัดสรรสวัสดิการแก่ผู้มีบัตรฯ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน ได้แก่ มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าเดินทางไปตรวจสุขภาพของผู้สูงอายุ และมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดปีการศึกษา
1.4 ผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย
ผลของการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ รวม 136,380.9 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2562 (ร้อยละ 0.8 ของ GDP) มีส่วนสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2561 ไตรมาสที่ 1 2 และ 3 ของปี 2562 ขยายตัวถึงร้อยละ 5.2 5.4 4.9 4.6 และ 4.2 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนได้รับผลประโยชน์ส่วนหนึ่งจากบัตรฯ รวมทั้งช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมไม่ชะลอตัวลงมาก และเป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
1.5 ผลด้านอื่นๆ
โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐยังส่งผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ เช่น รัฐบาลสามารถนำมาสร้างโครงการบูรณาการข้อมูลมหัต (Big Data) และแผนภาพสรุปข้อมูล (Visualization Dashboard) เพื่อใช้วิเคราะห์เชิงลึก ไปปรับปรุงนโยบายบรรเทาความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นประชาชนผู้มีบัตรฯ ก้าวข้ามกำแพงของโลกดิจิทัลไปสู่สังคมดิจิทัล (Digital Society) และสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสด (Cashless Society) ภาครัฐก้าวข้ามกำแพงโลกดิจิทัลโดยการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินนโยบายและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานรับลงทะเบียนและหน่วยงานตรวจสอบและ Big Data สามาถใช้เป็นเครื่องมือในการชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือได้เป็นรายพื้นที่
2. รายงานประจำปีกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2.1 ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป
กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการที่เป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชน ผู้มีรายได้น้อยหรือเพื่อสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคมที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบาก ทุกประเภท
2.2 ส่วนที่ 2 ผลการดำเนินงานของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
ผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ประกอบด้วยสวัสดิการให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) สวัสดิการที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลา ซึ่งเป็นสวัสดิการเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายเดินทาง และ (2) สวัสดิการที่กำหนดระยะเวลา ซึ่งเป็นสวัสดิการตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้แก่ผู้มีบัตรฯ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละช่วงเวลา เช่น มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรฯ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ
2.3 ส่วนที่ 3 ผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม
2.3.1 ผลต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรสวัสดิการ
1) โครงการฯ มีเกณฑ์ในการคัดกรองผู้ที่ควรจะได้รับสิทธิ ได้แก่ มีรายได้ มีทรัพย์สินทางการเงิน และมีอสังหาริมทรัพย์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด จึงทำให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวเป็นผู้มีรายได้น้อยตัวจริงและสมควรได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษจากภาครัฐ ซึ่งมีจำนวนรวม 14.6 ล้านคน (13.8 ล้านคน ณ เดือนกันยายน 2563) ทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดสรรสวัสดิการ
2) รัฐบาลได้ดำเนินการจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตรฯ อย่างรัดกุม โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยไม่ใช้เงินสด ไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งผู้มีบัตรฯ จะต้องนำไปใช้จ่ายยังร้านค้าที่กำหนด ทำให้เงินที่ภาครัฐใช้จัดสรรสวัสดิการกว่า 46,760.32 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไม่รั่วไหลถึงมือประชาชนอย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วยและใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์
2.3.2 ผลต่อความยากจน
การจัดสรรสวัสดิการผ่านบัตรฯ ช่วยลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระอยู่ที่ 2,553.33 บาทต่อคนต่อเดือน โดยถือเป็นการช่วยค่าใช้จ่ายของบุคคลในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าอุปโภคที่จำเป็นพื้นฐานขึ้นต่ำของการดำรงชีพของประชาชน
2.3.3 ผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย
การเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุนฯ ผ่านมาตรการต่างๆ ในบัตรฯ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทย เกิดการไหลเวียนของเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ประชาชนและเศรษฐกิจฐานราก และช่วยพยุงเศรษฐกิจ
2.3.4 ผลด้านอื่นๆ
ข้อมูลของผู้มีบัตรฯ รวม 14.6 ล้านคน ทำให้รัฐบาลสามารถนำมาพัฒนาโครงการบูรณาการข้อมูลมหัต (Big Data) และแผนภาพสรุปข้อมูล (Visualization Dashboard) ผ่านการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ประชาชนผู้มีบัตรฯ ก้าวข้ามกำแพงของโลกดิจิทัลไปสู่สังคมดิจิทัล (Digital Society) และสังคมเศรษฐกิจที่ปราศจากเงินสด (Cashless Society) ภาครัฐก้าวข้ามกำแพงของโลกดิจิทัล และ Big Data สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการชี้เป้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการช่วยเหลือได้เป็นรายพื้นที่
2.4 ส่วนที่ 4 รายงานของผู้สอบบัญชี และรายงานการเงินของกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 กองทุนฯ มีสินทรัพย์สุทธิรวม 7,244.69 ล้านบาท มีรายได้รวม 40,000 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายรวม 46,713.20 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8803
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ