ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2021 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2021)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 24 August 2021 19:32
- Hits: 4571
ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) และการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2021 (Ministers Responsible for Trade Meeting 2021)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค และการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2021และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำผลการประชุมฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
นิวซีแลนด์ได้จัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 และการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2021 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐอินโดนีเขีย นิวซีแลนด์และไทย ได้เน้นย้ำเรื่องการกระจายการฉีดวัดซีนสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนในเอเปคอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปิดพรมแดนและการบริหารห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยได้กล่าวถ้อยแถลง ดังนี้ 1) ใช้โมเดลการค้าใหม่เพื่อปรับให้เข้ากับยุค New Normal ผ่านการเจรจาซื้อขายออนไลน์ 2) มีแผนงานภูเก็ต แซนด์บ๊อกข์ เพื่อเปิดรับชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 3) เร่งให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัดซีนและยกเวันอากรศุลกากรการนำเข้าวัคซีน ยา และเครื่องมือแพทย์ และ 2 ใช้หลักเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทยได้ผลักดันการออกหนังสือเดินทางที่มีการรับรองการฉีดวัคซีนและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: NSMES ในการควบรวมและการซื้อกิจการระหว่างประเทศเพื่อให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นด้วย
2. การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2021 ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
2.1 สนับสนุนความร่วมมือในการรับมือกับโควิด-19 ระดับภูมิภาคโดยการฉีดวัคซีนและการใช้มาตรการที่ส่งเสริมการไหลเวียนวัคซีนโควิด-19 รวมถึงสินค้าและบริการที่จำเป็น โดยไทยได้กล่าวถ้อยแถลง ดังนี้ 1) สนับสนุนปฏิญญาเอเปคว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น ปี 2563 โดยย้ำว่าการออกมาตรการของรัฐจะต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการจำกัดการส่งออกต้องสอดคล้องกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) 2) เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและสนับสนุนแถลงการณ์เอเปค เรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 3) ให้ความสำคัญกับแถลงการณ์เอเปคเรื่องการบริหารจัดการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อส่งเสริมการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในช่วงโควิด-19 และ 4) สนับสนุนการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยากับวัคซีน
2.2 ระบบการค้าพหุภาคี ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญที่ผลักดันให้เป็นผลลัพธ์ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญครั้งที่ 12 (the Twelfth Ministerial Conference: MC12) โดยเขตเศรษฐกิจเอเปคส่วนใหญ่รวมถึงไทยได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันความร่วมมือและบทบาทของ WTO เพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีน การสรุปผลการเจรจาความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมง การขับเคลื่อนการหารือหลายฝ่ายภายใต้ข้อริเริ่มร่วมเกี่ยวกับการจัดทำกฎเกณฑ์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการให้มีความคืบหน้า เป็นต้น โดยเห็นว่าเอเปคมีบทบาทในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและการเจรจาภายใต้ WTO และเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดและเสริมสร้างการหารือประเด็นการค้าใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการเจรจาภายใต้ WTO ให้มีความคืบหน้า
3. รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้ร่วมรับรองแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2564 แถลงการณ์เอเปคเรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 และแถลงการณ์เอเปค เรื่องการบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีความจำเป็น โดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำแต่ไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (1 มิถุนายน 2564) เห็นชอบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการรักษาช่องว่างทางนโยบายมากขึ้น รวมถึงเป็นประเด็นที่ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคต่อไป ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมในแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ประจำปี 2564 ที่สำคัญ เช่น การทบทวนรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมพิกัดศุลกากรระบบอาร์โมไนซ์ ซึ่งทำให้ไทยยังสามารถรักษาพื้นที่ทางนโยบายได้ การจัดทำทางเลือกสำหรับสมาชิกเอเปคที่สามารถดำเนินงานได้ ในการคงสถานะการอุดหนุนเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพโดยสมัครใจ ซึ่งจะไม่เป็นการผูกมัด
4. แถลงการณ์ทั้ง 3 ฉบับ ได้กำหนดการรายงานความคืบหน้าในประเด็นสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงมีประเด็นมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8792
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ