ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 18 August 2021 00:38
- Hits: 13414
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติและรับทราบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (สธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
ทั้งนี้ ศธ. เสนอว่า
1. โดยที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม กำหนดมาตรการและกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการการศึกษาของประเทศในส่วนภูมิภาคที่มีความซับซ้อนและสั่งสมมาเป็นเวลานาน ซึ่งมาตรการและกลไกดังกล่าวมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้งอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลให้อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาเพื่อให้คุณและโทษต่อบุคลากรด้านการศึกษา คุณภาพการปฏิบัติงานและการจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติถูกลดทอนลง ขาดการมีส่วนร่วมของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เกิดการสิ้นเปลืองงบประมาณ และเกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน รวมทั้งขัดต่อหลักการกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคลสู่เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงและขาดการยอมรับซึ่งกันและกันในองค์กร
2. ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพในการบริหารงานบุคคลด้านการศึกษาในเขตพื้นที่ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ศธ. จึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 พ.ศ. …. ขึ้น
3. ศธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยได้จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (www.onec.go.th) และ ศธ. ได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย พร้อมทั้งได้เปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว และได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 (เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562) แล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พุทธศักราช 2560 ในประเด็นดังต่อไปนี้
ประเด็น |
คำสั่งหัวหน้า คสช. |
ร่างพระราชบัญญัตินี้ |
||
1. อำนาจหน้าที่ของ กศจ. ในเขตจังหวัด |
• อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา |
• อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา |
||
2. อำนาจหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด |
• ดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา |
• ดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งอยู่ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด |
||
3. อำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด |
• รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเกี่ยวกับ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา • ให้ศึกษาธิการจังหวัดโดยความเห็นชอบของ กศจ. เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร |
• รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด • ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยอนุมัติของ อ.ก.ค.ศ. จังหวัด เป็นผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา |
||
4. อ.ก.ค.ศ. จังหวัด และ อ.ก.ค.ศ. กรุงเทพมหานคร |
ไม่มีการกำหนดในเรื่องนี้ |
• ให้มี อ.ก.ค.ศ. จังหวัด และ อ.ก.ค.ศ. กรุงเทพมหานคร โดยประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานอนุกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 หรือเขตเดียวในจังหวัดเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ • กำหนดให้ อ.ก.ค.ศ. จังหวัด หรือ อ.ก.ค.ศ. กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ตามที่เคยกำหนดว่าเป็นอำนาจของ กศจ. ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา และของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8586
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ