มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 18 August 2021 00:19
- Hits: 9077
มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 264 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2538 ที่ให้ถือว่าการประชุม กก.วล. เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องสิ่งแวดล้อม และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 (เรื่อง มติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 ครั้งที่ 11/2548 และครั้งที่ 12/2548) รับทราบมติ กก.วล. ครั้งที่ 10/2548 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2548 ที่ให้นำมติ กก.วล. เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่สำคัญ และเรื่องที่ กก.วล. พิจารณาได้ข้อยุติแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
มติ กก.วล. |
|
1. การสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อการบริหารจัดการไฟป่าและหมอกควัน |
||
คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมมีมติอนุมัติ จัดสรรเงินอุดหนุนรวม 69 โครงการ วงเงินรวม 66.09 ล้านบาท ให้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) 17 จังหวัดภาคเหนือ และ ทสจ. 3 จังหวัดภาคตะวันออกกเฉียงเหนือ เพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” และเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสม.) 49 แห่ง ในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ทสม. ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน |
รับทราบการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม และให้นำความเห็นของ กก.วล. ที่เห็นควรให้มีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” กับพื้นที่ที่ไม่มีการดำเนินโครงการฯ ไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานไปพิจารณาดำเนินการด้วย |
|
2. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 โครงการ |
||
2.1) โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ระยะทางรวม 104.74 กิโลเมตร) 2.2) โครงการทางหลวงแนวใหม่ระหว่างทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันตก-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 347-จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันออก-ทางหลวงหมายเลข 352 ของกรมทางหลวง (ระยะทางรวม 14.35 กิโลเมตร) |
เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศทั้ง 2 โครงการ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการ ดังนี้ (1) ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด (2) ให้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดไว้ (3) ให้พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ เช่น การทบทววนการออกแบบโครงสร้างทางยกระดับของโครงการฯ ให้สอคล้องกับกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 |
|
3. มาตรการการยกระดับแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง |
||
สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่เขตเมืองและนอกเมือง ทั้งฝุ่นละอองที่เกิดจากการจราจรและที่เกิดจากการเผาในที่โล่งมีแนวโน้มดีขึ้น สำหรับพื้นที่ในเมือง จำนวนวันที่มีค่าฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐาน ลดลงจากเดิมร้อยละ 9 โดยสถานการณ์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคลี่คลายลง ในส่วนของจุดความร้อนสะสมลดลงร้อยละ 35 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ร้อยละ 20 (เดิม 80,801 จุด ลดเหลือ 52,175 จุด) อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคเหนือและหลายจังหวัดยังคงมีฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานและมีแนวโน้มของจำนวนจุดความร้อนสะสมเพิ่มขึ้น |
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เช่น (1) ให้ ทส. (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้) หมุนเวียนกำลังพลไปเสริมในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ที่เกิดไฟป่า รวมถึงรอยต่อจังหวัดที่ยังไม่มีสถานีควบคุมไฟป่าและเสริมการลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟในพื้นที่ป่าเสื่อมสภาพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าโดยเด็ดขาด (2) ให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ประสาน ทส. และกระทรวงกลาโหม (กองทัพภาคที่ 3) จัดให้มีชุดปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกันและดับไฟป่าประจำหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ป่าหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า (3) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตรควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เศษวัสดุ |
|
4. การปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากที่ดินจัดสรร |
||
ทส. (กรมควบคุมมลพิษ) ได้ทบทวนและจัดทำร่างประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากที่ดินจัดสรร เพื่อให้มาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากที่ดินจัดสรรมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน ซึ่งร่างมาตรฐานฯ มีการปรับปรุงสาระสำคัญ เช่น 1) ปรับแก้คำนิยาม “ที่ดินจัดสรร” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2553 2) ปรับการเรียงลำดับประเภทของที่ดินจัดสรรให้สอดคล้องกับกฎหมายหลักและกำหนดประเภทของที่ดินจัดสรรให้ครอบคลุมที่ดินจัดสรรที่มีขนาดต่ำกว่า 100 แปลงลงมา 3) ปรับปรุงค่ามาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งสำหรับที่ดินจัดสรรและยกเลิกพารามิเตอร์ตะกอนหนัก (Settleable Solids) |
เห็นชอบร่างประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากที่ดินจัดสรร พ.ศ. .... และมอบหมายให้ ทส. (กรมควบคุมมลพิษ) เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในประกาศต่อไป |
|
5. การกำหนดมาตรฐานค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอนจากท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ |
||
ทส. (กรมควบคุมมลพิษ) ได้ทบทวนและจัดทำร่างประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดค่ามาตรฐานค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) จากท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ฉบับ ให้เป็นฉบับเดียว เพื่อให้สะดวกต่อการนำไปใช้ แต่ยังคงสาระสำคัญของค่ามาตรฐานฯ ไว้ดังเดิม เช่น รถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ค่าก๊าซ CO ต้องไม่เกินร้อยละ 4.5 โดยปริมาตรที่วัดได้ด้วยเครื่องมือ ค่าก๊าซ HC ต้องไม่เกิน 10,000 ส่วนในล้านส่วนที่วัดได้ด้วยเครื่องมือ |
เห็นชอบร่างประกาศ ทส. เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอนจากท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ และมอบหมายให้ ทส. (กรมควบคุมมลพิษ) เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในประกาศต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8584
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ