ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 17 August 2021 23:56
- Hits: 8739
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1.1 การผลักดันประเด็นการรู้เท่าทันพนันออนไลน์เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน เช่น สนับสนุนให้ประเด็นการรู้เท่าทันการพนันออนไลน์ได้รับการบรรจุในที่ประชุมสมัชชาระดับชาติหรือการประชุมคณะกรรมการระดับชาติที่เกี่ยวข้อง ผลิตและเผยแพร่สื่อรณรงค์เชิงรุกผ่านช่องทางสื่อหลักและสื่อออนไลน์
1.2 การสร้างและพัฒนาให้เกิดกลไกในกำกับของรัฐเพื่อทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงาน เช่น ผลักดันให้เกิดคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ ผลักดันการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ระยะยาว
1.3 การสร้างองค์ความรู้ จัดการความรู้ และเผยแพร่ เช่น ผลักดันการบรรจุชุดการเรียนรู้ทักษะชีวิตและความรอบรู้เชิงบูรณาการ และผลกระทบจากการพนันในชั่วโมงการเรียนรู้ของสถานศึกษา เช่น การเรียนการสอนวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด กิจกรรมชุมชุม ชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเรียนรู้ผ่านโครงการหรือกิจกรรม ฯลฯ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการพนันออนไลน์ในสถานศึกษา
1.4 ส่งเสริมบทบาทและระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการป้องกัน ลดผลกระทบ ให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยา เช่น สนับสนุนให้เกิดสถานศึกษาปลอดพนัน นำร่องในการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์
1.5 การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง และส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ผลักดันการออกประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือจัดทำแนวทางปฏิบัติ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เพื่อกำกับแนวทางการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการพนัน
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ดศ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานตามข้อ 2 ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ดังนี้
ประเด็น |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1. การผลักดันประเด็นการรู้เท่าทันพนันออนไลน์เป็นวาระสำคัญเร่งด่วน |
- จากการศึกษาของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2559 พบว่าการพนันออนไลน์มีทิศทางการเติบโตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2553 - 2557 อยู่ที่ร้อยละ 8 ต่อปี คาดว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2558 - 2563 มีการขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 10.7 ต่อปี - การพนันส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจ หนี้สินจากการพนัน ด้านสังคม พฤติกรรมเสพติดการพนัน ปล้น จี้ ทำร้ายผู้อื่น และด้านสุขภาพ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ทำให้หงุดหงิด ก้าวร้าว - ภาครัฐจำเป็นต้องกำหนดนโยบาย มาตรการแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดการขยายตัวของการพนันออนไลน์ โดยจัดทำการแถลงการณ์นโยบายและสนับสนุนให้ประเด็นการรู้เท่าทันพนันออนไลน์ได้รับการบรรจุในการประชุมสมัชชาระดับชาติหรือการประชุมคณะกรรมการระดับชาติ สื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหรือเกิดความเสียหายต่อการเล่นพนันออนไลน์ |
|
2. การสร้างและพัฒนาให้เกิดกลไกในกำกับของรัฐเพื่อทำหน้าที่บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงาน |
- พม. โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเด็กและเยาวชนแห่งชาติ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ มอบหมายให้คณะทำงาน การป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ จัดทำร่างแผนปฏิบัติการการป้องกันและลดผลกระทบของเด็กและเยาวชนจากการใช้สื่อออนไลน์ (พ.ศ. 2563 - 2569) โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานและตัวชี้วัดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งหมายให้รัฐบาลสนับสนุนผลลักดันให้เกิดกลไกในการกำกับของรัฐ ในรูปแบบคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ผ่านคณะกรรมการระดับชาติ สมัชชาระดับชาติ และเครือข่ายของสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้อง สนับสุนนงบประมาณในการดำเนินงานทุกมิติในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและทุกภาคส่วน |
|
3. การสร้างองค์ความรู้ จัดการความรู้ และเผยแพร่ |
- พม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในการป้องกันแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานระหว่าง พม. กับหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในประเด็นการรู้เท่าทันการพนันออนไลน์ร่วมกับสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน นำร่องในพื้นที่ต่างจังหวัดดำเนินการรวบรวมสถิติสถานการณ์การพนันออนไลน์มาเพื่อใช้เป็นข้อมูลรายละเอียดในการขับเคลื่อน และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กจากการพนันออนไลน์ในรูปแบบของสื่อออนไลน์ ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 21 จังหวัด นอกจากนี้ สถาบัน ยได้ประสานกับ ศธ. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานศึกษากรุงเทพมหานคร จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับเด็กและเยาวชนในการรู้เท่าทันพนันออนไลน์ |
|
4. ส่งเสริมบทบาทและระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการป้องกัน ลดผลกระทบ ให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยา |
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. ให้การสนับสนุนให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนในด้านผลกระทบของการพนันออนไลน์ ทั้งในการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ - ศธ. ออกประกาศเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการป้องกันเด็กนักเรียนจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกมออนไลน์ในสถานศึกษา และสร้างความรู้สร้างความตระหนักทั้งด้านบวกและด้านลบของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกมออนไลน์ให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งกำหนดมาตรการห้ามไม่ให้นำเอาเกมออนไลน์เข้ามาส่งเสริมการตลาดในสถานศึกษา นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดนโยบายในการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กเกิดความรู้เข้าใจในการที่จะป้องกันภัยและตระหนักถึงภัยคุกคามของเกมออนไลน์ ซึ่งร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดศ. และ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พัฒนาหลักสูตรใน 9 กลุ่มเนื้อหาวิชาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องในเรื่องของสิทธิและความรับผิดชอบในการเข้าถึงสื่อดิจิทัล การสื่อสารดิจิทัล ความปลอดภัยของดิจิทัล เป็นต้น รวมทั้งโครงการสำคัญเพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านกระบวนการการลูกเสือเป็นตัวขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการใช้สื่อออนไลน์และเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์” เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามาร่วมจัดทำสื่อออนไลน์ที่สร้างสรรค์ ใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง สร้างรายได้ นอกจากความเข้าใจถึงภัยคุกคามของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และเกมออนไลน์ต่างๆ - สสส. ดำเนินการกิจกรรมเครือข่ายเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ให้ผู้ประสบปัญหาเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ สามารถเข้าและรับแจ้งเหตุ ในกรณีที่เด็กและเยาวชน หรือประชาชนเกิดปัญหาจากการเล่นพนันออนไลน์ |
|
5. การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวังและส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย |
- พระราชบัญญัติการพนนัน พ.ศ. 2478 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติในเรื่องของการพนันออนไลน์ ไม่ได้เป็นความผิดมูลฐาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการที่จะเรียกข้อมูลต่างๆ อีกทั้งยังขาดหน่วยงานหลักที่เป็นหน่วยงานประสานงานให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพ ดังนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันอย่างเป็นระบบ เช่น พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเน้นการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันอย่างชัดเจน และพัฒนากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองไม่ให้เยาวชนมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพนันและพนันออนไลน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8580
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ