รายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 17 August 2021 23:17
- Hits: 8171
รายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงอุตสาหกรรมขอรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานภายใต้มาตรการฯ ประกอบด้วย
1.1 มาตรการขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มีการดำเนินงาน ดังนี้
1) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ปรับปรุงและเสนอร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 และครั้งที่ 11 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่มีผู้เสนอรวม 8 ฉบับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
2) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งแก้ไขเพิ่มประเภทหรือชนิดของโรงงาน ในลำดับที่ 42 แห่งบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มประเภทโรงงานลำดับที่ 42 (3) การทำเคมีภัณฑ์หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งใช้วัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการเคมีชีวภาพเป็นพื้นฐาน 42 (4) การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมีที่ผลิตจากวัตถุดิบ พื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่อง และ 42 (5) การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ หรือสารเคมี หรือวัสดุเคมีที่ผลิตจากวัตถุดิบพื้นฐานทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องรวมกับวัตถุดิบที่ผลิตมาจากปิโตรเลียมและทำให้พลาสติกชีวภาพนั้นสลายตัวได้ทางชีวภาพ ทั้งนี้ ให้เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานก่อนจึงจะดำเนินการได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนนําลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
3) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวม ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่
- จังหวัดชัยภูมิ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดชัยภูมิ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และอยู่ระหว่างการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- จังหวัดอุบลราชธานี โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และอยู่ระหว่างการนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- จังหวัดลพบุรี โดยที่ประชุมคณะกรรมการผังเมือง มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เห็นชอบให้แก้ไขบัญชีท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2560 ในการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) บริเวณหมายเลข ก.3 โดยให้โรงงานสามารถดำเนินกิจการที่เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ได้ และให้โรงงานลำดับที่ 42 (1) 42 (2) 43 (1) 43 (3) และ 89 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2563 สามารถประกอบกิจการได้ในบริเวณหมายเลข ก.3-1 ถึง ก.3-14 ยกเว้นบริเวณหมายเลข ก.3-12 และ ก.3-13 รวมถึงแก้ไขที่ดินในบริเวณหมายเลข ก.3-9 (บางส่วน) เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า (สีม่วง) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน
4) หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันภาคการเกษตรสู่การทำเกษตรสมัยใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ ดังนี้
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการวางแผนการใช้ที่ดินตามความเหมาะสมของดินสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ โดยสนับสนุนภาคการเกษตรในการประยุกต์ใช้ระบบแผนที่การเกษตร (Agri-Map) เพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องตามสภาพพื้นที่ปัจจุบันและช่วยในการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยในปี 2563 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map จำนวน 100,000 ไร่ และการพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 80,000 ไร่ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ที่เหมาะต่อสภาพพื้นที่เพาะปลูก ให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพดี และมีความต้านทานต่อโรคแมลง
- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ซึ่งผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ โดยมีแผนนำร่องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี และพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับเทคโนโลยี IoT ในการติดตามสถานะการเพาะปลูกและจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ Big Data ที่สามารถนำมาวิเคราะห์จัดทำเป็น Data analytics รวมทั้งใช้อุปกรณ์อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ในการสำรวจพื้นที่ รดน้ำ และฉีดพ่นสารเคมี และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการประมวลผลข้อมูลเพื่อจัดทำ Image processing
5) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ในฐานะหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนแห่งชาติ (National Compliance Monitoring Authority: CMA) ที่ได้มาตรฐานตามหลักปฏิบัติที่ดีทางห้องปฏิบัติการขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development Good Laboratory Practice: OECD GLP) ได้ตอบรับคำเชิญผูกพันต่อกรรมสารของ OECD Council ที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 และได้รับแจ้งยืนยันการเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกแบบสมบูรณ์ (Full adherence) ที่เกี่ยวกับการยอมรับร่วมของข้อมูลเรื่องการประเมินสารเคมีของประเทศไทยจาก OECD เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ด้านการมีสิทธิและพันธกิจเช่นเดียวกับภาคีเต็มรูปแบบ (Full member) สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและได้รับการยอมรับร่วมในข้อมูลการประเมินสารเคมี โดยไม่ต้องทดสอบซ้ำ และการเป็นสมาชิกสมทบในคณะทำงานและการประชุมที่เกี่ยวข้องกับ OECD ซึ่งสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการมีผู้ตรวจสอบ (Inspector) ตามหลักการ OECD GLP ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่จัดโดย OECD หรือหน่วยตรวจสอบขึ้นทะเบียนระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ จำนวน 4 ราย แบ่งเป็น Full inspector จำนวน 2 ราย และ External contractor inspector จำนวน 2 ราย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานทดสอบที่ศึกษาความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง (Toxicity studies) ที่ดำเนินการสอดคล้องตามหลักการ OECD GLP ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 4 แห่ง คือ ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบขึ้นทะเบียน จำนวน 1 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการตรวจสอบด้าน Safety pharmacology study แล้ว และอยู่ระหว่างการแก้ไขข้อเบี่ยงเบน
1.2 มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 2/2563 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 กำหนดให้พื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน และให้กิจการเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งรวมถึงกิจการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพได้รับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมตามเงื่อนไข และประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ส.4/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 โดยแก้ไขเพิ่มเติมประเภทกิจการเพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนและสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการใช้ประโยชน์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาล หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model) โดยภาคเอกชนได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศผ่านโครงการต่างๆ ตามมาตรการฯ ซึ่งมีโครงการที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 5 โครงการ เกิดมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 18,440 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างแผนการก่อสร้าง จำนวน 6 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมประมาณ 160,000 ล้านบาท โดยผลการดำเนินโครงการลงทุนของภาคเอกชนในเขตพื้นที่นำร่องและเขตพื้นที่ศักยภาพอื่นสรุปได้ ดังนี้
1) เขตพื้นที่ EEC มีโครงการการลงทุนที่เสนอภายใต้มาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ซึ่งดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว และเกิดมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,740 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตน้ำยาล้างไต มูลค่าการลงทุน 2,240 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง โดยบริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด โครงการผลิต Poly Lactic Acid (PLA) มูลค่าการลงทุน 3,500 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จังหวัดระยอง โดยการร่วมทุนระหว่าง บริษัท โททาล จำกัด กับ บริษัท คอร์เบียน พูแลค (ประเทศไทย) จำกัด และโครงการ Palm Biocomplex มูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท โกลบอลกรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กับ กลุ่มบริษัทไทยอีสเทิร์น เพื่อผลิตเมทิลเอสเตอร์ (B100) กลีเซอรีนบริสุทธิ์ โอลีโอเคมีชนิดพิเศษ สารลดแรงตึงผิว (Alkyl Polylgucoside: APG) และสารสกัดวิตามินอีสำหรับอาหารเสริมสัตว์
2) เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (จังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชร) โดยบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท จีจีซี ไบโอเคมิคอล จำกัด กับ บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด ดำเนินโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ แบ่งโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มูลค่าการลงทุน 7,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงงานเอทานอล กำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน (หรือประมาณ 186 ล้านลิตรต่อปี) และโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและไอน้ำความดันสูง กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนธันวาคม ปี 2564 ทั้งนี้ แผนการดังกล่าวมีความล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าเครื่องจักรที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถขนส่งและดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรได้ตามแผน และระยะที่ 2 มูลค่าการลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โพลีแลคติกแอซิด (Polylactic acid: PLA) สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ กรดอะมิโนและสารสกัดยีสต์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สารให้ความหวาน (Xylitol) สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เบต้ากลูแคน (Beta-glucan) สารไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) และสารโพลีโคซานอล (Policosanol) สำหรับอุตสาหกรรมโภชนเภสัชภัณฑ์ (Nutraceuticals) โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ซึ่งขณะนี้บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด หนึ่งในพันธมิตรร่วมทุนจากสหรัฐอเมริกา ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิต PLA แล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่าการลงทุน 15,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการการลงทุนที่เสนอภายใต้มาตรการฯ ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 5 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อผลิตน้ำตาลเพื่อสุขภาพ (Functional sugar) ยีสต์อบแห้ง สารสกัดจากยีสต์ และเบต้ากลูแคนสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ซึ่งบริษัท คริสตอลลา จำกัด ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการดังกล่าวแล้ว พบว่ามีข้อจำกัดด้านความพร้อมทางเทคโนโลยีและไม่มีความคุ้มค่ากับการลงทุนในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงตัดสินใจชะลอแผนการลงทุนโครงการออกไปก่อน
3) เขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง (จังหวัดขอนแก่น) โดยบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy มูลค่าการลงทุน 29,705 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 สำหรับการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางด้านพันธุ์สัตว์ในพื้นที่รอบโครงการ ซึ่งทางบริษัทฯ มีแผนการยกระดับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ เบกกิ้งยีสต์ (Baking yeast) จากกากน้ำตาล โดยจะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและเร่งสร้างความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ต่อไป
4) กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการขยายผล Bioeconomy และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อผลักดันโครงการลงทุนจัดตั้ง Bio Hub ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่มีศักยภาพของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีความก้าวหน้าการดำเนินงาน ดังนี้
- โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย มูลค่าการลงทุน 57,600 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยบริษัท อิมเพรส กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (Smart Eco Industrial Estate) รองรับโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 54 โรงงาน อาทิ พลังงานชีวภาพ ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) เคมีชีวภาพ อาหารแห่งอนาคตสำหรับคนและสัตว์ ยาและเครื่องสำอางจากสารสกัดจากพืช การแพทย์และสุขภาพ รวมถึงจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งนี้ โครงการได้รับมติอนุมัติเป็นเอกฉันท์จากการประชาพิจารณ์กับสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหินซ้อนและชุมชนในบริเวณโดยรอบโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการได้พัฒนาแพลตฟอร์มไบโอแมตลิงก์ (BioMatLink) เพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบจากเกษตรกรรายแปลงแบบครบวงจร และประกันราคารับซื้อมันสำปะหลังไม่ต่ำกว่า 2 บาท โดยในปี 2563 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 4,000 ราย และจะขยายเป็น 50,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่เก็บเกี่ยว 200,000 ไร่ โดยปัจจุบันมีนักลงทุนในประเทศและจากต่างประเทศ หลายรายที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักรจีน ฝรั่งเศส ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงงานเอทานอล ระยะที่ 2 กำลังการผลิต 300,000 ลิตรต่อวัน (หรือประมาณ 108 ล้านลิตรต่อปี) และโรงงานไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 15 เมกะวัตต์ นอกจากนี้มีแผนการก่อสร้างโรงเรือนเพาะปลูกและโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical grade) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารสำคัญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การขออนุญาตปลูกกัญชาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การขอความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการขออนุญาตตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
- โครงการลพบุรี ไบโอคอมเพล็กซ์ มูลค่าการลงทุน 32,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองเมือง ตำบลดอนดึง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด เพื่อผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 600,000 ลิตรต่อวัน (หรือประมาณ 198 ล้านลิตรต่อปี) พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง ชีวมวล กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ ปุ๋ยชีวภาพ กำลังการผลิต 1,000 ตันต่อวัน และสารเคมีชีวภาพ เช่น กรดแลคติก (Lactic acid) สารสกัดจากยีสต์ เอนไซม์ รวมถึงพัฒนาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านชีวภาพ และระบบการจัดการเกษตรขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้พิจารณาแก้ไขปรับสีผังเมืองบริเวณที่ตั้งโครงการจากพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) เป็นสีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) ทำให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนธุรกิจได้ต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการและการเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ รวมถึงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลนากระแซงและตำบลทุ่งเทิง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โดยความร่วมมือระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ บริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภครองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เครื่องจักรกลการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ สมุนไพรและการแพทย์ และอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีในพื้นที่กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 และมีข้อสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี และให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีประสานกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อปรับปรุงผังเมืองให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการพิจารณาแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ ทางจังหวัดอุบลราชธานีได้แต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองความเหมาะสมในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี (ระดับอำเภอ) และดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็นพร้อมสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับผังเมืองจากพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) เป็นสีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) บริเวณตำบลนากระแซงและตำบลทุ่งเทิงที่อยู่โดยรอบโครงการ
- โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park มูลค่าการลงทุน 2,370.72 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นการพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายภายในโครงการ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 เห็นชอบการลงทุนโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในบริเวณโดยรอบโครงการ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตาม ตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) การจ้างผู้รับจ้างก่อสร้าง และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567
- โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูโอลิโอเทค ซิตี้ ซึ่งเดิมทีบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มีแผนการลงทุนมูลค่า 12,500 ล้านบาท เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพที่ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่จากการประเมินสภาพแวดล้อมการลงทุน พบว่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่เหมาะสมต่อการลงทุนประกอบอุตสาหกรรมในขณะนี้ จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนใหม่เป็นโครงการกรีนดีเซล (Green Diesel) และสารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material: PCM) จากน้ำมันปาล์มดิบ มูลค่าการลงทุน 1,200 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง โดยบริษัท อีเอ ไบโอ อินโนเวชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เพื่อผลิตกรีนดีเซล หรือ Bio Hydrogenated Diesel (BHD) สำหรับใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันดีเซล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะอาดของเครื่องยนต์ และสาร PCM สำหรับใช้ควบคุมอุณหภูมิในวัสดุก่อสร้างอาคาร หรือเส้นใยผ้า กำลังการผลิต 130 ตันต่อวัน ซึ่งดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อไตรมาสที่ 4 ปี 2563
1.3 มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ มีการดำเนินงาน ดังนี้
1) กระทรวงการคลังได้เสนอมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยได้นำพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 702) พ.ศ. 2563 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละยี่สิบห้าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
- กรมสรรพากรออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 388) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563 โดยครอบคลุมผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ 11 ชนิด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก จานชามถาดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ช้อนส้อมพลาสติก หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกสำหรับเพาะชำ ฟิล์มคลุมหน้าดิน ขวดพลาสติก ฝาแก้วน้ำ และฟิล์มปิดฝาแก้ว
- สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมออกประกาศสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้ผู้ผลิต (Converter) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพในประเทศไทยที่ประสงค์ยื่นขอใบรับรองต้องมีคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด โดย ณ เดือนเมษายน 2564 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้ดำเนินการออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพให้แก่ผู้ผลิต (Converter) แล้ว จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยนำโพลีแพค จำกัด บริษัท บีดี สตรอว์ จำกัด และบริษัท แวนด้าแพค จำกัด รวมจำนวน ทั้งสิ้น 42 ใบรับรอง แบ่งเป็น หลอดพลาสติก จำนวน 32 ใบรับรอง ถุงขยะ ถุงหูหิ้ว ถุงซิป จำนวน 8 ใบรับรอง แก้วพลาสติกและฝาพลาสติก จำนวน 1 ใบรับรอง ถุงหูหิ้ว หลอดพลาสติก และฟิมล์ปิดฝาแก้ว จำนวน 1 ใบรับรอง
2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการรณรงค์ลดปริมาณพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งในอุทยานแห่งชาติรวม 155 แห่ง ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการอุทยานแห่งชาติปลอดขยะ โครงการนำร่องใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่สลายตัวได้ โครงการขยะคืนถิ่น และแคมเปญ “การท่องเที่ยวไร้ขยะ ลดภาระแก่ธรรมชาติ” ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกประเภทถุงหูหิ้ว ภาชนะบรรจุอาหาร ขวดน้ำ หลอด และช้อนส้อม ภายในอุทยานแห่งชาติลดลงเหลือ 1,457 ตัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จากปริมาณ 2,648 ตัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558
3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ดำเนินการรณรงค์ให้บุคลากรในองค์กรลดการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง และหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี ดังนี้
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับสถานีโทรทัศน์ 8 ช่องหลัก ลดการเผยแพร่ภาพพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในรายการวาไรตี้หรือละคร ยกเว้นรายการข่าวทางโทรทัศน์ หรือ “Censor Plastic Bags” ภายใต้โครงการ "ทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก" และร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ทั้งห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 43 แห่ง งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วแก่ผู้ซื้อสินค้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา
- กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ โดยจัดมอบถุงมือพลาสติกชีวภาพให้แก่ร้านอาหารเพื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวซึ่งภายหลังการใช้งานจริง ได้เกิดการเจรจาธุรกิจเพื่อสั่งซื้อสินค้าระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารกับบริษัท โนวาเมดิค จำกัด ผู้ผลิตถุงมือพลาสติกชีวภาพ
4) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้จัดทำมาตรฐานใหม่และปรับปรุงมาตรฐานเดิมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีการออกมาตรฐานเพิ่มเติม จำนวน 17 มาตรฐาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 จำนวน 4 มาตรฐาน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 6 มาตรฐาน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 จำนวน 2 มาตรฐาน และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 จำนวน 5 มาตรฐาน ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างมาตรฐานใหม่เพิ่มเติม จำนวน 3 มาตรฐาน
5) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันพลาสติก ได้ดำเนินการออกแบบตราสัญลักษณ์ Bio Label สำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ผลิตและวางจำหน่ายในประเทศ และจัดสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมชีวภาพเข้าร่วมการสัมมนา จำนวน 106 คน
1.4 มาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: CoBE) โดยสถาบันพลาสติกทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสาน เชื่อมโยงเตรียมความพร้อม และบริหารงานวิจัย/เทคโนโลยี/นวัตกรรมด้านชีวภาพเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจชีวภาพ มีการดำเนินงาน ดังนี้
1) การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ณ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 80 ล้านบาท ผูกพัน 3 ปี ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ปี 2565
- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ประกอบด้วย นักวิจัย จำนวน 164 คน บริษัทร่วมทุนวิจัย จำนวน 34 บริษัท และเกิดเครือข่ายภาคเอกชน จำนวน 125 บริษัท ซึ่งขณะนี้มีโครงการวิจัยเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ที่ได้รับการสนับสนุนในปี 2560-2563 ที่ปิดโครงการแล้ว จำนวน 20 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ จำนวน 10 โครงการ
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมกับภาคเอกชน จำนวน 55 บริษัทเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จำนวน 53 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์เบต้ากลูแคนบริสุทธิ์จากเชื้อรา ผลิตภัณฑ์ยีสต์โพรไบโอติกสำหรับใช้เป็นสารเสริมอาหารสัตว์ซึ่งจดทะเบียนผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายแล้ว ภายใต้ตรา SYMPRO PLUS ตรา SYMPRO STAR และตรา SYNMUNE GUARD ผลิตภัณฑ์บำรุงผมบรรจุสารสกัดจากใบหมี่และบัวบก สารออกฤทธิ์และสารเติมแต่งจากขิงซึ่งอยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตร
2) การเชื่อมโยงงานวิจัย ให้คำปรึกษา สนับสนุนเงินทุนในการยกระดับสถานประกอบการชีวภาพสู่ Factory 4.0 โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันพลาสติก ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพและเพิ่มผลผลิตสถานประกอบการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ จำนวน 50 กิจการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพต้นแบบ จำนวน 30 ผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือ เฝือกอ่อน ผ้ากันเปื้อน เสื้อกาวน์ กระติ๊บข้าว กระปุกเครื่องสำอาง ถาดบรรจุไข่ อาหารเสริมพืช/สัตว์จากสาหร่าย เซรั่มผสมกรดไกลโคลิก (Glycolic acid) จากอ้อย ครีมผสมสารสกัดโพลิโคซานอล (Policosanol) จากอ้อย
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทุนบางส่วนในการยกระดับสถานประกอบการชีวภาพเพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิต จำนวน 42 กิจการ และเพื่อการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ จำนวน 19 กิจการ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการให้คำปรึกษาด้านวิจัยและพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์แก่สถานประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลเพื่อสุขภาพ จำนวน 2 กิจการ
3) การสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านชีวภาพ โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ร่วมกับสถาบันพลาสติก ได้ดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการอบรมรวมมากกว่า 500 คน
- ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดอบรมเพื่อยกระดับความสามารถบุคลากรการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตามหลักการ OECD GLP
4) การพัฒนาศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันพลาสติก ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 จำนวนรวม 2 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในลักษณะ Bio Innovation Linkage โดยในปีแรกได้จัดทำฐานข้อมูลเทคโนโลยีการผลิต และฐานข้อมูลผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลสำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ ฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการ ฐานข้อมูล Value Chain ของพืชสำคัญ ฐานข้อมูล Supply Chain ของผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ฐานข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก ฐานข้อมูลกฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวข้อง และฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ได้การรับรองจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
2. ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงาน
2.1 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบให้หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถดำเนินโครงการต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ เนื่องจากการฝึกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และการเข้าปฏิบัติงานให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง จำเป็นต้องปรับรูปแบบการทำงานจากการฝึกอบรมและลงพื้นที่ ณ สถานที่จริง เป็นการดำเนินงานแบบออนไลน์ซึ่งค่อนข้างมีความลำบากยุ่งยาก ขณะที่ภาคเอกชนบางรายไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงงานได้ตามแผนการลงทุน เนื่องจากข้อจำกัดในการเจรจาส่งมอบเงินทุนจากพันธมิตรร่วมทุนต่างชาติและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ
2.2 ภาคเอกชนผู้ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมองว่าการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวนร้อยละ 25 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถจูงใจให้เกิดการกระตุ้นความต้องการใช้ได้มากนัก และเห็นควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการลดหย่อนภาษีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาปัจจุบันของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพซึ่งสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไปประมาณ 2-3 เท่า รวมทั้งขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีออกไปอีกเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพิ่มมากขึ้น
2.3 ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการดัดแปรพันธุกรรม (GMOs) และความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรเร่งทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพของพืชหรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในประเทศไทยที่เอื้อต่อการลงทุน เกิดประโยชน์อย่างเป็นธรรม และไม่ก่อความเสียหายแก่ทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ใช้พืชหรือสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ
2.4 บุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญตามหลักการ OECD GLP ในห้องปฏิบัติการทดสอบความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องรอรายงานผลการทดสอบค่อนข้างนานและอาจเสียโอกาสทางการแข่งขัน ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายเลือกใช้บริการทดสอบจากหน่วยงานอื่นในต่างประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8573
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ