ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 6
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 17 August 2021 21:32
- Hits: 2547
ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 6
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 6 และเห็นชอบมอบหมายให้ส่วนราชการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วยโดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติคณะรัฐมนตรีตามที่เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) ได้เข้าร่วมการประชุมฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ณ นครฉงซิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ผลการประชุมฯ
1. ที่ประชุมฯ ชื่นชมความสำเร็จของกรอบความร่วมมือฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศลุ่ม น้ำโขงได้ขอบคุณจีนสำหรับการจัดสรรทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้างและกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ด้านสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และวัคซีนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
2. ที่ประชุมฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างกรอบความร่วมมือ แม่โขง-ล้านช้างกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนการร่วมกันพัฒนาระเบียงทางการพัฒนาเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Economic Development Belt: MLEDB) นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับ ทิศทางการพัฒนากรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านข้างและการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ฉบับใหม่ (ค.ศ. 2023-2027) โดยเห็นพ้องให้เริ่มกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ในปี 2564
3.ที่ประชุมฯ เน้นหารือผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ ดังนี้
ด้าน |
สาระสำคัญ |
|
1. การสาธารณสุข |
1.1 ย้ำการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมและขอความร่วมมือจากจีนในการผลิตวัคซีนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี 1.2 เร่งกระชับความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้การแพทย์แผนดั้งเดิมในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และใช้ประโยชน์จากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ด้านสาธารณสุข |
|
2. การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 |
2.1 เร่งส่งเสริมความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และการส่งเสริมการสอดประสานระหว่าง MLEDB กับระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศแห่งใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) 2.2 ไทยได้เสนอให้เร่งร่วมมือในประเด็นต่าง (เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) การเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมตามแนวเส้นทาง R34 เพื่อให้อนุภูมิภาคฯ ฟื้นตัวอย่างปลอดภัย |
|
3. การบริหารจัดการน้ำ |
3.1 ที่ประชุมฯ [ยกเว้นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา] เห็นพ้องให้มีการศึกษาร่วมในหัวข้อต่างๆ และเร่งพัฒนาขีดความสามารถของประเทศสมาชิกผ่านการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านน้ำ 3.2 ประเทศสมาชิกมีข้อเสนอ เช่น การแบ่งปันข้อมูลแบบ real-time การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรน้ำและการจัดทำแผนพัฒนาทั้งลุ่มน้ำ การทำการศึกษาร่วมระหว่างศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบความร่วมมือฯ กับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และการพัฒนาเว็บไซต์ Lancang-Mekong Water Resources Cooperation Information Sharing Platform ให้มีเนื้อหามากขึ้น |
4. ที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ข้อริเริ่มว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศแม่โขง-ล้านช้าง (2) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศแม่โขง-ล้านช้าง และ (3) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการแพทย์แผนดั้งเดิมในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยสาระสำคัญของเอกสารทั้งหมดไม่แตกต่างจากร่างเอกสารฯ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564
5. จีนได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน โดยเปิดตัว (1) เว็บไซต์สำนักเลขาธิการกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างแห่งชาติจีน (มี 7 ภาษา) (2) เว็บไซต์ Youth Online Platform (สำหรับการศึกษาออนไลน์และการแลกเปลี่ยนสำหรับเยาวชนในประเทศแม่โขง-ล้านช้าง) และ (3) การแข่งขันการออกแบบโปสเตอร์กรอบความร่วมมือแม่โขง- ล้านช้าง
หน่วยงานรับผิดชอบ
ด้านสาธารณสุข : กระทรวงสาธารณสุข
การฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 : กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
การพัฒนาที่ยั่งยืน : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสำนักงานทรพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ความร่วมมือระดับรัฐบาลท้องถิ่น : กระทรวงมหาดไทย
กลไกความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง : กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สังคมแห่งชาติและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 17 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8571
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ