ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 10 August 2021 23:13
- Hits: 8607
ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น และการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตและความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ กต. เสนอ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ตามมาตรา 178 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 178 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ในการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำหนังสือสัญญานั้น รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นแก่ประชาชน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยอย่างน้อยต้องรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้น และให้ใช้วิธีการอย่างหนึ่งหรือหลายวิธีดังต่อไปนี้ด้วย เช่น การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น การสัมภาษณ์ หรือการเชิญให้เข้าร่วมชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็น การสำรวจความคิดเห็น และวิธีการอื่นใดที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเห็นว่าเหมาะสม ทั้งนี้ ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นจะต้องไม่น้อยกว่า 15 วัน
2. กำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำหลักการหรือประเด็นสำคัญของหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางไปรับฟังความคิดเห็น โดยต้องประกาศวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดในการรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ เหตุผลความจำเป็นและวัตถุประสงค์ของการทำหนังสือสัญญา หัวข้อและสาระสำคัญของหนังสือสัญญา ผลประโยชน์และผลกระทบ (ถ้ามี) และแนวทางรองรับและมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ (ถ้ามี) ทั้งนี้ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาแล้วว่าการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศหรือประชาชน หรือต่อความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือกระทบต่อท่าทีของไทยในการเจรจา ให้เปิดเผยข้อมูลเพียงเท่าที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเช่นว่านั้น
3. เมื่อหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบอย่างกว้างขวางมีผลใช้บังคับแล้ว และการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง หากหน่วยงานที่รับผิดชอบยังมิได้เสนอแนะมาตรการเยียวยาหรือได้เสนอแนะมาตรการเยียวยาไว้แต่ไม่เพียงพอ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอแนะมาตรการเยียวยาที่จำเป็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งอาจเป็นมาตรการทางการเงิน หรือที่ไม่เป็นเงินก็ได้ หากเป็นมาตรการเยียวยาทางการเงิน ให้หน่วยงานที่ต้องดำเนินการเยียวยาเสนอประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการนั้นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบด้วย และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเผยแพร่มาตรการเยียวยาที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้ทราบเป็นการทั่วไป โดยอย่างน้อยต้องเผยแพร่ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้น นอกจากนี้ หากหน่วยงานที่รับผิดชอบเห็นว่ามาตรการเยียวยานั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในการยกเลิกมาตรการเยียวยา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8318
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ