รายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 10 August 2021 22:05
- Hits: 7565
รายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ซึ่งได้เพิ่มเติมรายงานของผู้สอบบัญชีและ งบการเงินของกองทุนหมุนเวียน โครงสร้างคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน รายงานผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และวิเคราะห์ผลการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้นตามความเห็นของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทราบต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนได้ปรับปรุงแก้ไขรายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ตามข้อสังเกตของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2564 และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 แล้ว โดยเพิ่มเติมรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของทุนหมุนเวียน โครงสร้างคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน รายงานผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และวิเคราะห์ผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าวไม่ได้แก้ไข ในสาระสำคัญของรายงาน แต่เป็นการจัดรูปแบบของรายงานและเพิ่มเติมรายละเอียดตามข้อสังเกตของที่ประชุม สภาผู้แทนราษฎร ในภาคผนวก ข.
สาระสำคัญของรายงานฯ
รายงานสรุปผลการดำเนินงานในภาพรวมของทุนหมุนเวียน ประชำปีบัญชี 2562 ที่ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว โดยเพิ่มประเด็นต่างๆ ตามข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของทุนหมุนเวียน โดยเพิ่มเติมงบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน หมายเหตุประกอบงบการเงิน และสรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญของแต่ละกองทุน เช่น กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข เป็นต้น
2. ข้อมูลทั่วไปของทุนหมุนเวียน โดยได้เพิ่มเติมรายละเอียดข้อมูลทั่วไปของทุนหมุนเวียน ได้แก่ รายละเอียดการจัดตั้ง ประเภททุนหมุนเวียน วัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ ที่มาของรายได้ โครงสร้างการบริหาร กรอบอัตรากำลัง โครงสร้างคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน รายงานการเงิน และผลการดำเนินงาน และจำแนกรายละเอียดข้อมูลทั่วไปของทุนหมุนเวียนออกเป็นแต่ละกองทุน เช่น ข้อมูลทั่วไปของกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ข้อมูลทั่วไปของกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และข้อมูลทั่วไปของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น
3. รายงานผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียน ได้มีการปรับปรุงแก้ไขรูปแบบผลการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนและผลการประเมินเฉลี่ยในภาพรวมของแต่ละกองทุนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงอุปสรรค ในการดำเนินงานของแต่ละกองทุนที่ทำให้ผลการประเมินในบางด้านต่ำกว่าเกณฑ์ เช่น กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาไม่สามารถใช้จ่ายรายจ่ายงบลงทุนและรายจ่ายในภาพรวมได้ตามที่กำหนด กองทุนจัดรูปที่ดินควรจัดทำแผนปรับปรุงหรือทบทวนความจำเป็นในด้านการเงินและควรนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนประกันวินาศภัยไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ตามมาตรการการคลังด้านการใช้จ่ายภาครัฐและเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตจำหน่ายวัคซีนไม่สามารถดำเนินโครงการปรับปรุงคุณภาพโรงงานผลิตวัคซีนให้ได้ การรับรองตามมาตรฐาน GMP เป็นต้น
4. วิเคราะห์ผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน
4.1 สถานะทางการเงินของทุนหมุนเวียนในภาพรวม ประจำปีบัญชี 2562 ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ประเภททุนหมุนเวียน |
รายการ |
||||
สินทรัพย์ |
หนี้สิน |
สินทรัพย์สุทธิ |
รายได้สุทธิ |
รายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย |
|
เพื่อการสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม |
3,307,296.28 |
1,591,667.03 |
1,715,629.25 |
479,935.08 |
72,522.03 |
เพื่อการกู้ยืม |
587,774.38 |
2,450.33 |
585,324.05 |
10,656.17 |
17,761.03 |
เพื่อการสนับสนุนส่งเสริม |
373,687.07 |
86,683.83 |
287,003.24 |
115,044.37 |
16,061.98 |
เพื่อการบริการ |
46,024.77 |
390.72 |
45,634.05 |
11,025.79 |
4,559.45 |
เพื่อการจำหน่ายและการผลิต |
30,187.71 |
826.88 |
29,360.83 |
9,583.82 |
2,033.54 |
รวม |
4,344,970.21 |
1,682,018.79 |
2,662,951.42 |
626,245.23 |
112,938.03 |
4.2 ผลการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562
ในปีบัญชี 2562 มีทุนหมุนเวียนทั้งสิ้น 115 ทุน โดยมีทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบ การประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 97 ทุน และไม่เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 18 ทุน ดังนี้
4.2.1 ทุนหมุนเวียนที่เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 97 ทุน มีคะแนนผลการประเมินเฉลี่ยในภาพรวมเท่ากับ 3.9083 คะแนน โดยมีทุนหมุนเวียนที่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินผล จำนวน 45 ทุน ที่มีผลการประเมินต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน จำนวน 44 ทุน และทุนหมุนเวียนที่มีผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผล จำนวน 8 ทุน
4.2.2 ทุนหมุนเวียนที่ไม่เข้าสู่ระบบการประเมินผลการดำเนินงานของกรมบัญชีกลาง จำนวน 18 ทุน ประกอบด้วย
1) ทุนหมุนเวียนที่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการประเมินผลและจัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน จำนวน 9 ทุน ได้แก่ กองทุนพัฒนาไฟฟ้า กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนเพื่อการพัฒนาและเผยแพร่ประชาธิปไตย กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
2) ทุนหมุนเวียนที่มีสถานะไม่พร้อมประเมินผลการดำเนินงาน จำนวน 9 ทุน ได้แก่ ทุนหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยุบเลิก จำนวน 3 ทุน ได้แก่ เงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ทุนหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างการรวม จำนวน 1 ทุน คือ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรมจังหวัด ทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นใหม่และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม จำนวน 4 ทุน ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาการตรวจเงินแผ่นดิน กองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน กองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และทุนหมุนเวียนที่ยังไม่มีการดำเนินงานตามภารกิจและวัตถุประสงค์การจัดตั้ง จำนวน 1 ทุน คือ กองทุนเพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ
4.3 บทบาทของทุนหมุนเวียนที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ทุนหมุนเวียนถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน บนพื้นฐานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ซึ่งในปีบัญชี 2562 ทุนหมุนเวียนมีบทบาทสำคัญในการผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐในด้านต่างๆ เช่น ปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และยกระดับขีดความสามารถด้านบริการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายโลจิสติกส์ของโลก
4.4 ข้อสังเกตการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ประจำปีบัญชี 2562 ของคณะทำงานจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน
4.4.1 ควรมีการทบทวนวิสัยทัศน์ ให้สอดคล้องกับพันธกิจและวัตถุประสงค์จัดตั้ง และให้สอดคล้องกับความต้องการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดยุทธศาสตร์ ที่ชัดเจนเพื่อรองรับและให้สามารถบรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์จัดตั้งโดยควรมีแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแผนการดำเนินงานที่ตอบสนองตามพันธกิจและวัตถุประสงค์จัดตั้ง
4.4.2 ควรมีแนวทางในการสอบทานผลประเมินของตัวชี้วัดเพิ่มเติม เช่น วิธีสุ่มตรวจสอบโดยตรงกับผู้ที่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ได้เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ตามวัตถุประสงค์ในการขอรับการสนับสนุนส่งเสริม
4.4.3 ควรทบทวนจำนวนและคุณลักษณะของทุนหมุนเวียนที่มีโครงสร้างคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียนที่มีจำนวนคณะกรรมการฯ มากเกินไปซึ่งส่งผลต่อความไม่คล่องตัวในการดำเนินงานเพื่อให้โครงสร้างคณะกรรมการฯ มีความสอดคล้องกับพันธกิจและวัตถุประสงค์จัดตั้งของทุนหมุนเวียน
4.4.4 กรมบัญชีกลางควรทบทวนทุนหมุนเวียนที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันหรือสามารถดำเนินการร่วมกันได้เพื่อให้มีการควบรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะทุนหมุนเวียนที่อยู่ในกลุ่มเกี่ยวกับด้านการเกษตร เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน
4.4.5 ควรเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น การสำรวจต่างๆ สามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่องทางออนไลน์ ทดแทนการสำรวจด้วยการกรอกแบบสำรวจเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ลดต้นทุนและมีระบบฐานข้อมูลที่เป็นระบบ เป็นต้น
4.4.6 ควรแสดงความเชื่อมโยงระหว่างประสิทธิผลของกระบวนการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียนกับผลลัพธ์ในการดำเนินงานของตัวชี้วัดด้านต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น
4.4.7 ควรมีการเทียบเคียง/เปรียบเทียบ (Benchmark) ผลการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่นหรือการเทียบเคียงระหว่างหน่วยงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8312
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ