สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 10 August 2021 21:59
- Hits: 7541
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปผลการประชุม กตน. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 และให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน. |
|
1. การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เช่น 1) คณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำแนกเป็น ระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษและระดับปฏิบัติ เช่น คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/จังหวัด 2) การบูรณาการตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ได้แก่ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (17 จังหวัดภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร) (2) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) เช่น การเผาในที่โล่ง และภาคอุตสาหกรรม (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ เช่น การปรับปรุงค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ และการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 3) ผลการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ไฟป่า และหมอกควัน เช่น จุดความร้อนภาพรวมทั้งประเทศลดลงจากปี 2563 ถึงร้อยละ 50 และจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 8 |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : 1) ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะต่างๆ โดยกำหนดมาตรการเร่งด่วน เช่น การเร่งรัดและมีมาตรการจูงใจในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประเภท Euro5 และการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะด้วยรถไฟฟ้าให้ครบวงจร 2) ควรมีการศึกษาการนำเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาใช้จัดการมลพิษทางอากาศ 3) ควรเร่งสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน มติที่ประชุม : รับทราบและขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. ไปพิจารณาต่อไป |
|
2. การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ 1) มาตรการส่งเสริมหรือจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นรถที่ใช้ไฟฟ้า เช่น (1) กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในการคมนาคมของประเทศ รวมทั้งศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และ (2) กระทรวงพลังงาน (พน.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายฯ จำนวน 4 คณะ 2) แนวทางการส่งเสริมพื้นที่ติดตั้งสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station Mapping) เช่น พน. สนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้ารวม 647 สถานี 1,964 หัวจ่าย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สนับสนุนกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยจะได้รับสิทธิและประโยชน์ในกลุ่ม A3 (ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี) 3) การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรถรับจ้างประเภทต่างๆ โดย พน. ได้ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรถรับจ้างสาธารณะ ซึ่งอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการระยะ 4) ปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งเสริมการลงทุน สกท. ได้ออกประกาศส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแต่ความต้องการของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังไม่สูงเพียงพอ และเอกสารที่กำหนดขอบเขตและรายละเอียดของการจัดหาพัสดุ/งานจ้าง (TOR) ยังไม่เอื้อให้เกิดโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยมากนัก |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : 1) ควรนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินการส่งเสริมเรื่องเรือไฟฟ้าด้วย 2) ประเด็นปัญหาหัวจ่ายประจุไฟฟ้าที่ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นั้น ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้กำหนดอัตราค่าชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่มีอัตราคงที่ตลอดทั้งวันที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย สามารถสร้างแรงจูงใจผู้พัฒนาสถานีชาร์จรถไฟฟ้าให้มีการลงทุนมากขึ้น 3) ควรเตรียมพร้อมบุคลากรรองรับการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยกระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาจัดทำหลักสูตร EV ในทุกมิติ รวมถึงให้ทุนการศึกษาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจาก พน. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มติที่ประชุม : รับทราบและเห็นชอบให้ คค. พน. ร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สกท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม |
|
3. การเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายข้อมูลข่าวสารได้แก่ การขยายโครงการอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมในพื้นที่ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ได้นำร่องการใช้ประโยชน์ 5G ในระยะสั้น ทั้งนี้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทยเพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ตร ด้านสาธารณสุข ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ด้านคมนาคม และด้าน Smart City และการเพิ่มประสิทธิภาพของหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มท. จะดำเนินการให้มีหอกระจายข่าวอีก 500 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุม 74,709 หมู่บ้านทั่วประเทศ |
มติที่ประชุม : (1) รับทราบและให้ ดศ. ร่วมกับ มท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) อก. กรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางเพื่อบูรณาการส่งเสริมการขยายโครงการอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคม เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับทุกภาคส่วน รวมทั้งให้ส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว และ (2) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนใน กตน. พิจารณาดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. กปส. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างรับรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้แก่ประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ |
|
4. แผนงานและผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ รวม 4 คณะ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (2) คณะอนุกรรมการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลประจำปี (กำหนดกรอบการนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤศจิกายน 2564) (3) คณะอนุกรรมการบูรณาการและประสานการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และ การสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน |
มติที่ประชุม : รับทราบและมอบหมายให้ประธานคณะอนุกรรมการบูรณาการและประสานการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8311
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ