รายงานผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 10 August 2021 21:36
- Hits: 8186
รายงานผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (13 กรกฎาคม 2564) เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการ อันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 27) โดยมอบหมายให้ กค. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยหรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นผู้ประกอบการและประชาชนอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินที่จะช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่นอกการกำกับของ ธปท. รวมทั้งกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน
2. ผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย
2.1 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม Small and Medium Enterprises (SMEs) และลูกหนี้รายย่อยด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม รวมทั้งสถาบันการเงินได้ดำเนินมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สินโดยพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือนให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยตรง เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม 2564 แล้วแต่กรณีและเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการพักชำระหนี้แล้วจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันทีเพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ นอกจากนี้ จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่มีรายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของภาครัฐตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้เป็นกรณีไป
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ข้างต้นอาจจะส่งผลกระทบต่อฐานะและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งตัวชี้วัดทางการเงินที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ผูกพันไว้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกหนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่กระทบกับประสิทธิภาพการดำเนินงานในอนาคต กค. จึงได้มอบหมายให้ สคร. พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว
2.2 มาตรการควบคุมการทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน ในการประชุมคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการกำกับติดตามทวงถามหนี้ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ และมอบหมายฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ กรณีประชาชนพบผู้ทวงถามหนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) และประจำกรุงเทพมหานคร (ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน) ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2558
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 10 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8308
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ