รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 August 2021 23:28
- Hits: 11670
รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2563 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 40 ที่บัญญัติให้ พม. จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์ จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการป้องกกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธานได้เห็นชอบรายงานฯ ด้วยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เรื่อง |
สาระสำคัญ |
|
1. การจัดสรรงบประมาณ |
รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบจำนวน 4,029.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85 (จากที่ได้รับในปี 2562 จำนวน 3,806.82 ล้านบาท) |
|
2. ผลการพิจารณาคดีสำคัญ |
เช่น คดีสถานอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยวินิจฉัยว่า สถานอาบอบนวดวิคตอเรีย ซีเครท เป็นสถานที่ทำการค้ามนุษย์และค้าประเวณี จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง 7 คนในคดีดังกล่าว มีความผิดฐานค้ามนุษย์และเป็นธุระจัดหาเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลยและลงโทษปรับห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลเจ้าของใบอนุญาตสถานอาบอบนวดและบริษัทนิติบุคคลผู้ให้เช่าสถานที่ และให้ริบของกลางทั้งหมด อีกทั้งให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย 2 คน ที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณี เป็นเงินรายละ 80,000 บาท |
|
3. สถิติคดีค้ามนุษย์ |
สถิติคดีค้ามนุษย์ลดลง โดยมีคดีค้ามนุษย์ 132 คดี ลดลงต่ำสุดเมื่อเทียบกับในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบที่พบมากที่สุด คือ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (ค้าประเวณี สื่อลามก และทางเพศอย่างอื่น) 118 คดี และได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ 180 คน อีกทั้งสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ได้ 230 คน |
|
4. การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และจากการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการ |
ยังคงยึดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงให้อิสระแก่ผู้เสียหายในการเลือกทำกิจกรรมตามความสมัครใจ มีอิสระในการใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อติดต่อกับครอบครัว และในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สถานคุ้มครองได้เพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดสำหรับผู้เสียหายที่รับเข้าใหม่และผู้เสียหายกลุ่มเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจในการคุ้มครองผู้เสียหายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น |
|
5. การเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครอง |
ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการถูกบังคับใช้แรงงานหรือบริการจำนวน 229 คน สมัครใจเข้ารับการคุ้มครองจำนวน 148 คน โดยแบ่งเป็นสถานคุ้มครองของรัฐ 140 คน และในสถานคุ้มครองเอกชน 8 คน |
|
6. การได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ |
มีการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ จำนวน 21.71 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 7.64 ล้านบาท |
|
7. การเตรียมการรองรับการดูแลผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) |
รัฐบาลได้พิจารณาให้สถานคุ้มครองที่จังหวัดเชียงรายเป็นสถานคุ้มครองที่ให้บริการทางเลือก (Alternative Care) แก่ผู้เสียหายกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ และได้ร่วมกับองค์กร Winrock International ในการศึกษารูปแบบและแนวทางที่เหมาะสมในการดูแลผู้เสียหายกลุ่มดังกล่าว |
|
8. การออกกฎหมายลำดับรอง |
ได้ออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดมาตรฐานที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกในเรือประมง และการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งออกกฎหมายลำดับรองตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกออกหนังสือคนประจำเรือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ประสงค์ทำงานในเรือประมงอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และการอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในเรือประมงที่จะออกไปทำการประมงในทะเล |
|
9. แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 |
คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 สิงหาคม 2563) เห็นชอบให้คนต่างด้าวซึ่งเดิมได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การอนุญาตนั้นสิ้นสุดลงและไม่ได้เดินทางกลับออกนอกราชอาณาจักรสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยมีแรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 240,572 คน (กัมพูชา 70,994 คน ลาว 13,311 คน และเมียนมา 156,267 คน) |
|
10. ค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าว |
กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการจัดหางานให้กับแรงงานต่างด้าวและห้ามนายจ้างเรียกรับเงินเกี่ยวกับการนำคนต่างด้าวมาทำงานจากคนต่างด้าว รวมทั้งให้นายจ้างใช้สัญญาจ้าง 3 ภาษา เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ประกอบด้วย ภาษาของแรงงานต่างด้าว ภาษาไทย และภาษาอังกฤษไว้ในฉบับเดียวกัน โดยให้เก็บสัญญาจ้างไว้ที่ทำการของนายจ้างเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้และสำเนาสัญญาจ้าง 1 ฉบับ ให้ลูกจ้างเก็บรักษาไว้ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8098
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ