รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 August 2021 23:22
- Hits: 11171
รายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของระบบประกันภัยและพัฒนาการที่สำคัญ รอบ 12 เดือน ปี 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (10) ที่บัญญัติให้สำนักงาน คปภ. จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานและอุปสรรคในการดำเนินงานของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสำนักงาน คปภ. ต่อคณะรัฐมนตรี] โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ภาพรวมธุรกิจประกันภัยของไทย รอบ 12 เดือน ปี 2563 ธุรกิจประกันภัยเดือนมกราคม - ธันวาคม 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 852,729 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันภัยของปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ (-0.87) ถึง 1.13
2. ผลการดำเนินงานที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 - 2563)
การดำเนินการ |
ปัญหา/อุปสรรค/แนวทางการแก้ไข |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย |
||
1) เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการ เช่น ปรับปรุงการลงทุนประกอบธุรกิจอื่นเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น 2) ยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัย เช่น ทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย 3) คุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกันภัยและยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของระบบประกันภัย เช่น ให้บริษัทประกันภัยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ |
ควรมีการติดตามและทบทวนการประเมินความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยมีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงประกันภัย |
||
1) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย เช่น การประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการประกันภัย 2) ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโควิด-19 และกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มปีใหม่ 10 บาท นิวนอร์มอลพลัส 3) ส่งเสริมการเข้าถึงประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพมาตรฐานให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการปฏิรูประบบสาธารณสุข 4) ขยายช่องทางการเข้าถึงประกันภัยของประชาชน โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มาประกอบการเสนอขายการออกกรมธรรม์ และการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทน |
1) ประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจเงื่อนไขความคุ้มครองที่เพียงพอ โดยเฉพาะกรณีเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน 2) การปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานให้รองรับกับเทคโนโลยีและวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน |
||
1) เสริมสร้างการแข่งขัน ผ่านการผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยพัฒนากระบวนการให้ความเห็นชอบผลิตภัณฑ์ประกันภัย 2) พัฒนาการกำกับและกระบวนการให้ความเห็นชอบ/อนุมัติผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยพัฒนาระบบการขอรับความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 3) ส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน เช่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจประกันภัยกับต่างประเทศ และสร้างความร่วมมือและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยกับหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ |
1) ควรประเมินสถานการณ์และผลกระทบของบริษัทประกันภัยจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การผ่อนคลายการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยมีระบบและสอดคล้องกับสถานการณ์ 2) ควรพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดประกันภัยในประเทศอื่น |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย |
||
1) พัฒนาและยกระดับบุคลากรประกันภัยให้เป็นมืออาชีพผ่านการจัดอบรมและสัมมนา 2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในระบบประกันภัย โดยศึกษาและพัฒนาฐานข้อมูลด้านสถิติประกันภัย 3) เสริมสร้างศักยภาพระบบเทคโนโลยี เช่น เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ 4) ผลักดันให้การประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง เช่น แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานกลางของรายการค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ 5) เสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานกำกับ เช่น ผลักดันร่างกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย และทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติต่างๆ |
ข้อมูลด้านการประกันภัยมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นในการจัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบ |
3. การประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการและแผนการดำเนินงานปี 2563 ของสำนักงาน คปภ. ซึ่งประกอบด้วย 16 ตัวชี้วัด มีค่าคะแนนถ่วงน้ำหนักรวมอยู่ที่ 4.625 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งได้ 3.625 คะแนน
4. ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในปี 2563 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,340 ราย โดยประเมินผลความพึงพอใจ 3 ด้าน ได้แก่ ความเป็นธรรม คุณภาพการให้บริการ และการเข้าถึงบริการมีระดับความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ที่ระดับความพึงพอใจมากที่สุด คือ อยู่ที่ร้อยละ 92.20 ลดลงจากปี 2562 ซึ่งได้ร้อยละ 93.20
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8097
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ