ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 August 2021 23:14
- Hits: 11512
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจการเงิน การคลัง วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง บทบาทและทิศทางการประกันภัยและนัยเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าปัจจุบันธุรกิจประกันภัยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งปัจจัยจากภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหากับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมถึงเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจประกันภัย ทิศทางการกำกับดูแล และการส่งเสริมธุรกิจประกันภัยที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) บูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคเกษตรกรรมผ่านระบบประกันภัย 2) ยกระดับมาตรฐานการประกันสุขภาพและการออมผ่านระบบประกันภัยให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุ 3) สนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ 4) ปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยีประกันภัย 5) เพิ่มศักยภาพการรับประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงของประเทศ 6) ส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงทรัพย์สินของรัฐและบุคลากรภาครัฐ 7) ส่งเสริมการขยายธุรกิจและเชื่อมโยงตลาดประกันภัยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม) และ 8) ส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัย
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ กค. รับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่าได้พิจารณารายงานพร้อมทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 แล้ว โดยเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว สรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะฯ |
|
1. การบูรณาการเชิงนโยบายของภาครัฐในด้านการบริหารความเสี่ยงของภาคเกษตรกรรมผ่านระบบประกันภัย เช่น ควรผลักดันให้มีการบูรณาการนโยบายการประกันภัยพืชผลร่วมกัน โดยให้ทุกหน่วยงานมีนโยบายการประกันภัยพืชผลที่เป็นแนวทางเดียวกัน มีกระบวนการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรับประกันภัย การประกันภัยต่อ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้แก่ภาครัฐและเกษตรกร |
1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมจากหลายประเทศ และยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจน มีความยืดหยุ่น รวมไปถึงให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทั้งสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ 2. สำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ครอบคลุมภาคเกษตรกรรมหลักของประเทศ เช่น กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกรมธรรม์ประกันภัยลำไย 3. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรให้มีคณะกรรมการประกันภัยการเกษตรระดับประเทศ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการประกันภัยการเกษตรระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ให้ชัดเจนมากขึ้น และขอให้มีตัวแทนภาคเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการทุกระดับ |
|
2. ยกระดับมาตรฐานการประกันสุขภาพและการออมผ่านระบบประกันภัยให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงอายุและเป็นเครื่องมือในการบริหารงบประมาณภาครัฐ โดยควรส่งเสริมและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกันสุขภาพภาคสมัครใจและส่งเสริมให้มีระบบการประกันภัยที่มีการให้บริการการประกันสุขภาพอย่างครบวงจร |
1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ รูปแบบการประกันสุขภาพและมาตรการภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนากฎหมายแม่บทที่เกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) 2. สมาคมประกันวินาศภัยไทยเห็นว่า การประกันสุขภาพอ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่แล้ว และไม่ควรมีกฎหมายมากำหนดเฉพาะเรื่องการประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่ได้มีความแตกต่างจากการประกันภัยประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ การประกันสุขภาพภาคสมัครใจไม่สามารถรองรับระบบสังคมผู้สูงอายุได้ทั้งหมด ยกเว้นว่ามีการเริ่มทำประกันภัยตั้งแต่วัยทำงาน ทั้งนี้ การดูแลผู้สูงอายุควรเป็นสวัสดิการของภาครัฐเป็นหลัก 3. กค. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการนำระบบประกันสุขภาพมาใช้กับข้าราชการ ปรากฏว่าระบบประกันสุขภาพเอกชนในประเทศไทยมีรูปแบบการบริหารในลักษณะการจ่ายค่าสินไหมทดแทน (Indemnity health insurance) ซึ่งคล้ายคลึงกับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการในปัจจุบัน ดังนั้น กรมบัญชีกลางควรใช้แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของการบริหารระบบสวัสดิการด้วยการปรับวิธีการให้บริการผู้ป่วยยของสถานพยาบาล โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ของการดูแลและให้บริการแบบบูรณาการ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการดูแลตัวเองและปรับรูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้มีสิทธิ |
|
3. สนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรสนับสนุนให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีศักยภาพในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมากขึ้น |
1. สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศว่าด้วย เรื่องการลงทุนของบริษัทประกันภัยเพื่อสนับสนุนการลงทุนที่มีความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ 2. กค. ควรสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่านรูปแบบการลงทุนต่างๆ เช่น การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการประกันภัยได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์หรือการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวซึ่งจะเป็นการกระจายการลงทุนให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุน อีกทั้งช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐบาลและหนี้สาธารณะของประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยให้รัฐบาลมีเงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างอื่นที่มีความจำเป็นและความเหมาะสมเพิ่มเติม |
|
4. ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่องทางการเสนอขายและให้บริการและควรกำหนดมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัยรูปแบบดิจิทัลเป็นการเฉพาะ |
1. สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัยขับเคลื่อนธุรกิจสู่ Digital Transformation เพื่อให้อุตสาหกรรมประกันภัยของไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยและรูปแบบในการกำกับดูแลที่รองรับการดำเนินธุรกิจประกันภัย และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในช่องทางการเสนอขายและให้บริการ โดยการเสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และโครงการ OIC Gateway เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางหรือตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2. สำนักงาน คปภ. มีแผนการพัฒนาหลักเกณฑ์และแนวทางในการออกใบอนุญาตรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแผนการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมในการเปิดโอกาสให้ Virtual Insurer เข้ามาดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค บริษัทประกันภัย และอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย |
|
5. สนับสนุนการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยจากภัยพิบัติของประเทศไทยและกลไกในการเพิ่มศักยภาพการรับประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงประเทศ |
1. สำนักงาน คปภ. มีแผนการดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพในการรับความเสี่ยงภัยของประเทศ โดยพิจารณาถึงระดับความเสี่ยงและเงินกองทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม รวมถึงการศึกษาแนวทางของบริษัทประกันภัยต่อแห่งชาติ (National Reinsurer) 2. สมาคมประกันวินาศภัยเห็นว่า การส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรหรือบริษัทเพื่อรองรับการประกันภัยด้านภัยพิบัติ ควรเป็นการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติของรัฐบาล โดยเฉพาะการประกันภัยพืชผล |
|
6. ส่งเสริมให้ภาครัฐมีการใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงทรัพย์สินของรัฐและบุคลากรภาครัฐ เช่น การประกันภัยทรัพย์สินของรัฐ การประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทางของข้าราชการในการปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ |
1. สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดให้มีการเอาประกันภัยทรัพย์สินของรัฐ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกันภัยทรัพย์สินภาครัฐและรถยนต์ราชการ ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลักดันให้นำการประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ 2. กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการนำระบบประกันภัยในการเดินทางของข้าราชการผู้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ควรครอบคลุมถึงอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ |
|
7. ส่งเสริมการขยายธุรกิจและเชื่อมโยงตลาดประกันภัยเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการประกันภัยในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมาร์ และเวียดนาม) |
สำนักงาน คปภ. มีแผนในการพัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัย และ ecosystem เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Hub และ Capacity Center และขยายบทบาทของศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการประกันภัย |
|
8. ส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัย (Insurance Literacy) ให้เป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนไทย |
1. สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดัน และส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรนำการประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ 2. กระทรวงศึกษาธิการได้เน้นกระบวนการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมเรื่องการประกันภัยและส่งเสริมความรู้เรื่องการประกันภัยให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป |
|
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม |
||
กค. เห็นว่า โครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษา เช่น การศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ และศึกษาแนวทางของบริษัทประกันภัยแห่งชาติ (National Reinsurer) ควรรอผลการศึกษาของโคนงการดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน รวมทั้งเห็นควรให้สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8096
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ