ขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 August 2021 22:29
- Hits: 12426
ขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
1. เห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 และมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดทำรายละเอียดและนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาตผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถยืนยันตัวตน ตรวจสอบได้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญ
1. การขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564
สืบเนื่องจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 30) ได้มีการปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด และกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับสถานประกอบการต่างๆ โดยสรุปการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบได้ดังนี้
1.1. พื้นที่ดำเนินการ : ขยายพื้นที่จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยเพิ่มเติมจังหวัดกาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง
1.2 กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ : คงเดิม โดยครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม
1.3 ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ : กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขา และในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม
1.4 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ : รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เรื่องขอขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและการปรับปรุงรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27)
1.5 ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ : ขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานที่ได้รับผลกระทบในกลุ่ม 13 จังหวัดแรกจากเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นจากเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๖๔ จำนวน 2 เดือน และกลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติมตามข้อกำหนด ฉบับที่ 30 จำนวน 1 เดือน (สิงหาคม)
1.6 ขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ จากเดิมประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 60,000 ล้านบาท
2. การพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ฉบับแก้ไข ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพิ่มเติมจากข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 30) ได้ ดังนั้น เพื่อให้การช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึง จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาตผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม และสามารถยืนยันตัวตนตรวจสอบได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8093
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ