รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review: URP) รอบที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 August 2021 22:07
- Hits: 9989
รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review: URP) รอบที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงานประเทศตามกลไก Universal Periodic Review (URP) (รายงาน URP) ของประเทศไทยและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดผลักดันประเด็นสำคัญที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จก่อนการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2564 และให้ความเห็นชอบต่อร่างรายงาน URP รอบที่ 3 และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถแก้ไขรายงาน URP รอบที่ 3 ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ก่อนจัดส่งรายงานดังกล่าวให้กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ) ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้กำหนดให้ประเทศไทยจัดส่งรายงาน URP รอบที่ 3 ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 และเข้าร่วมการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงการประชุมคณะทำงาน URP สมัยที่ 39 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ สมาพันธรัฐสวิส โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้กำหนดให้จัดทำรายงานเป็นภาษาอังกฤษให้มีจำนวนคำไม่เกิน 10,700 คำ และมีเนื้อหาสาระครอบคลุมสิทธิมนุษยชนทุกประเภท ทั้งนี้ ต้องมีการกล่าวถึงพัฒนาการ ความสำเร็จ ตลอดจนความท้าทายต่างๆ รวมทั้งวิกฤติโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขพร้อมกับทิศทางในอนาคต รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานสหประชาชาติในพื้นที่และภาคประชาสังคม (ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ส่งรายงานคู่ขนานเพื่อประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยจากมุมมองของหน่วยงานดังกล่าวด้วย ดังนั้น ในการนำเสนอรายงาน URP รอบที่ 3 คณะทำงานจะพิจารณารายงานของทั้งภาครัฐ หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ และภาคประชาสังคมควบคู่กัน เพื่อให้รายงาน URP ของภาครัฐมีสาระที่ไม่ตรงกันข้ามหรือแตกต่างกับข้อมูลในรายงานที่จัดทำโดยภาคส่วนอื่นๆ จนเกินไป ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญรายงานดังกล่าวในแต่ละหัวข้อได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ: ความสำเร็จและความท้าทายบนเส้นทางของการเสริมพลังและการพัฒนาที่ยั่งยืน |
- ความยั่งยืน คือ หัวใจของทุกสิ่งที่ประเทศไทยพยายามทำ โดยเชื่อมโยงกับประชาธิปไตย สันติภาพ และสิทธิมนุษยชน เพื่อสื่อถึงมุมมองในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทุกด้าน บทบาทของภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน อาสาสมัคร ผู้หญิงและเด็ก และภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้รับการส่งเริมและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในสังคมและการปกครอง โดยหลักการนี้ได้เคยสะท้อนไว้ในรายงานผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ฉบับแรกของประเทศไทย ณ เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ในปี พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 นอกจากนี้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตระหนักว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการฟื้นตัวของสังคมและเศรษฐกิจสะท้อนอยู่ในทุกมิติ รวมทั้งสิทธิมนุษยชนด้วย - หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานของแนวทางการดำเนินการของประเทศไทย โดยเน้นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและการส่งเสริมความยั่งยืนในการตอบสนองต่อวิกฤติในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้แบ่งปันประสบการณ์ในการปรับใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับประเทศอื่นด้วย |
|
กลไกด้านสิทธิมนุษยชน |
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระที่ดำเนินงานตาม รธน. และพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการปารีส ซึ่ง กสม. มีอำนาจหน้าที่ เช่น ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณี จัดทำรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศ แก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิมนุษยชนให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคม เป็นต้น นอกจากนี้ กสม. ได้เห็นชอบให้จัดตั้งสำนักงานภูมิภาคแห่งแรกในจังหวัดสงขลา ซึ่งมีภารกิจครอบคลุม 14 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งความคิดริเริ่มนี้สอดคล้องกับหลักการปารีสที่กำหนดให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพิ่มการเข้าถึงสำหรับสาธารณะ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล |
|
การดำเนินการและทิศทางในอนาคต |
- รัฐบาลได้สนับสนุนแพลตฟอร์มการสื่อสารที่เปีดกว้างและเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนและยังคงรักษาสิทธิของประชาชนในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งส่งผลให้การส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสร้างความไว้วางใจระหว่างรัฐบาลกับสาธารณชนมีความสำคัญยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามปรับปรุงกฎหมายและแนวปฏิบัติเพื่อให้แรงงานโยกย้ายถิ่นฐานมีสิทธิเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานเทียบเท่ากับคนไทย รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคม - ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนและกรอบอื่นๆ ในอาเซียน รวมทั้งเครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์และกลุ่มเพื่อนต่อความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งกลไกเหล่านี้รวมถึงกลไกที่จะสร้างขึ้นใหม่จะมีความสำคัญในการรักษาผลสำเร็จที่ได้มาแล้วและในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมความร่วมมือและเสริมสร้างศักยภาพเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ ภูมิภาค และทั่วโลก - การระบาดใหญ่ของโรค COVD - 19 ได้เผยให้เห็นถึงความไม่แข็งแรงและความเปราะบางของสังคมเมืองและผู้อาศัยต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่ขยายตัว ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มประเทศแกนนำที่สนับสนุน Sustainable Recovery Pledge: Building a better future for all, with human rights at its heart ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนในการดำเนินมาตรการฟื้นฟูจากโรค COVID - 19 โดยการดำเนินการดังกล่าวควรเป็นไปในลักษณะความร่วมมือกับทุกคนในสังคม ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยใช้มาโดยตลอด |
ภายหลังจัดส่งรายงาน UPR รอบที่ 3 ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ แล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมเรื่ององค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการนำเสนอรายงานดังกล่าว ตลอดจนท่าทีของประเทศไทยในการตอบรับหรือไม่รับข้อเสนอแนะจากประเทศต่างๆ รวมทั้งเร่งผลักดันประเด็นที่ยังคั่งค้างให้แล้วเสร็จก่อนการนำเสนอรายงานดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2564 (เช่น การเข้าเป็นภาคี หรือการถอนข้อสงวนต่อสนธิสัญญาบางฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคี) ทั้งนี้ ในการนำเสนอรายงาน UPR ซึ่งเป็นการนำเสนอด้วยวาจา ดังนั้น หัวหน้าคณะผู้แทนและคณะผู้แทนไทยสามารถแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมหรือพัฒนาการสำคัญอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการส่งรายงาน UPR ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 สิงหาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A8089
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ