เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์ การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 July 2021 22:28
- Hits: 11624
เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์ การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์ การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวทางฯ ดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปตามหน้าที่และอำนาจให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์และข้อเท็จจริงในแต่ละกรณี โดยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อคงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคมและประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติในภาพรวม โดยให้รับความเห็นของกระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงกลาโหมไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กสม. รายงานว่า ได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา และมีความห่วงใยเกี่ยวกับสถานการณ์ การชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันว่า การใช้เสรีภาพในการชุมนุม การแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในมุมมองที่แตกต่างกัน อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการชุมนุม การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องทางการเมืองหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์บานปลายและมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม
2. กสม. ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดทำรายงานในกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองตั้งแต่ปี 2550 แล้วพบว่า กรณีดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการ อันเนื่องมาจากการกระทำของทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น การปิดถนน ปิดล้อมอาคารสาธารณะและขัดขวางไม่ให้บุคคลเข้าออก กล่าวโจมตีบุคคลด้วยถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว การขว้างปาสิ่งของ การเผาทำลายอาคาร ทำให้ทรัพย์สินของทางราชการ ธุรกิจเอกชน และประชาชนในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหาย รวมถึงการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ และเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้กำลังและอาวุธเข้าสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บซึ่งในช่วงนั้นรัฐบาลได้ใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหาย ท้ายที่สุดย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
3. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายด้วยวิธีอื่น เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองไว้อย่างชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 มาตรา 35 และมาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและ สิทธิทางการเมือง ข้อ 19 และข้อ 21 ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพดังกล่าวมิใช่เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองอย่างบริบูรณ์ อาจถูกจำกัดได้ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น รักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน แต่ต้องเป็นการตีความอย่างเคร่งครัดและได้สัดส่วนกับความจำเป็นแห่งสถานการณ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องย่อม มีหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายที่อาจเป็นการจำกัดเสรีภาพบางประการของกลุ่มผู้ชุมนุม
4. การดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมาได้แสดงถึงความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนและการใช้ความระมัดระวังในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ดังนั้น เพื่อให้การกำหนดนโยบายและแนวทางดำเนินการของรัฐบาล รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการบังคับใช้กฎหมายภายใต้สถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน กสม. จึงเห็นควรเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสถานการณ์การชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
4.1 คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรแสดงออกที่ชัดเจนถึงการเคารพเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพนี้ต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างต้น และควรคำนึงถึงหลักความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยที่ถือว่า “การมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก การจำกัดตัดสิทธิเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น” อย่างเคร่งครัด การบังคับใช้กฎหมายหรือการปฏิบัติการใดๆ จึงควรเป็นไปในแนวทางการเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ อาจนำหลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ ซึ่งจัดทำโดยผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติ มาเป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้ตามความเหมาะสมแก่กรณี นอกจากนี้ การใช้กำลังจัดการกับการชุมนุมทั้งที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ รวมถึงการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง ต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและอย่างจำกัด
4.2 คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม ระหว่างการชุมนุมและที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งให้ความคุ้มครองเสรีภาพ โดยอาจบังคับใช้กฎหมายเฉพาะว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะเป็นหลักแทนการใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วย การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฯลฯ อันอาจทำให้มีการนำไปใช้เป็นข้อกล่าวหาว่าเป็นการขัดขวางสร้างอุปสรรคและจำกัดการใช้เสรีภาพดังกล่าว รวมถึงควรทบทวนการบังคับใช้กฎหมายที่อาจเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็นและการเสนอข่าวที่แตกต่างจากความเห็นทางการเมืองของรัฐบาล
4.3 คณะรัฐมนตรีควรดำเนินการให้สังคมโดยรวมเชื่อมั่นว่าความคิดเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาของผู้ชุมนุมจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังและไม่ล่าช้า รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่และช่องทางในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งจากผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ตลอดจนสนับสนุนฝ่ายนิติบัญญัติในการเป็นกลไกการคลี่คลายปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
4.4 กสม. ขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการสื่อสารต่อสาธารณะให้รับทราบและเข้าใจอย่างชัดแจ้งและต่อเนื่องเกี่ยวกับการดำเนินการดูแลความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยควรให้ความสำคัญกับการชี้แจงโดยระบุเหตุผลความจำเป็น และความได้สัดส่วนที่ต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และขอสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มในทุกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุย รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างทั่วถึง โดยมีคนกลางที่ได้รับการยอมรับทำหน้าที่เป็นผู้ประสานการรับฟังเพื่อเป็นหลักประกันว่า ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและทุกฝ่ายจะได้รับการรับฟังและร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่จะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งอย่างสันติวิธีโดยเร็ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7813
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ