รายงานประจำปี 2563 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 July 2021 22:16
- Hits: 11436
รายงานประจำปี 2563 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำปี 2563 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบและรับรองแล้ว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้เสนอรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป
ข้อเท็จจริง
อว. รายงานว่า
1. สวทช. เป็นหน่วยงานในสังกัด อว. ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนความรู้และความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับความสามารถทางการผลิตและการบริการ ตลอดจนระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภายในประเทศและ จากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศในทุกด้าน
2. พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 มาตรา 21 บัญญัติให้ทุกๆ ปี ให้ สวทช. จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี โดยแสดงงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้อง พร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งแสดงผลงานของสำนักงานในปีที่ล่วงมาด้วย และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอรายงานประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีเสนอรายงานนั้นต่อรัฐสภาเพื่อทราบ สวทช. จึงได้จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2563 เสนอคณะกรรมการฯ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบต่อไป ซึ่งรายงานเรื่องนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
3. ในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว
สาระสำคัญของเรื่อง
สวทช. ได้มุ่งเน้นการวิจัยและสร้างนวัตกรรมในสาขาเทคโนโลยีที่ สวทช. มีความเชี่ยวชาญและพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อโจทย์ประเทศ และรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต รวมถึงการผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนมีการลงทุนในการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ด้วยการปรับปรุงกลไกสนับสนุนการลงทุนในด้านนวัตกรรม สร้างการเชื่อมโยงกับพันธมิตรภาคี สถาบันการศึกษา นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปขยายผล โดยเฉพาะการตอบสนองนโยบายประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ EECi การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีผล การดำเนินงานที่สำคัญโดยสรุป ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของ สวทช. ประจำปี 2563 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
แผนการดำเนินงาน |
สาระสำคัญ |
|
1.1 ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม |
- มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 691 เรื่อง มีการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 451 รายการ และมีผลงานสำคัญเชิงประจักษ์ ดังนี้ 1. นวัตกรรมเพื่อรับมือต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ได้แก่ (1) พัฒนาแอปพลิเคชันการเฝ้าระวังและการควบคุมโรคโควิด 19 เช่น DDC-Care แอปพลิเคชันติดตามและประเมินสุขภาพผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด 19 (2) การตรวจคัดกรองเบื้องต้น เช่น MuTherm-FaceSence เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิใบหน้าอัตโนมัติที่ตรวจได้หลายคนพร้อมกัน (3) การตรวจเชื้อไวรัสโควิด 19 เช่น พัฒนาวิธีสกัด RNA เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แบบง่าย (4) การป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อโควิด 19 เช่น MagikTuch ระบบสั่งการลิฟต์แบบไร้สัมผัส และ (5) การวิจัยและพัฒนาต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยนำเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมมาใช้ในการพัฒนาวัคซีน 5 ประเภท เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไปในอนาคต 2. ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น พัฒนาชุดตรวจ ELISA โรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อคัดกรองท่อนพันธุ์ปลอดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งได้ถ่ายทอดวิธีการตรวจวินิจฉัยให้แก่ภาคเอกชน 14 บริษัท และ Green Rock นวัตกรรมวัสดุเม็ดมวลเบาสังเคราะห์ ช่วยลดน้ำหนักโครงสร้างอาคารได้มากกว่าร้อยละ 20 เป็นต้น 3. ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของ สวทช. และพันธมิตรสู่การสร้างความสามารถให้แก่ภาคเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ เช่น พัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ อาทิ เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะระบบควบคุมการใช้น้ำในแปลงเปิด และเทคโนโลยีการผลิตข้าวปลอดภัยถ่ายทอดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีปรับปรุงหน้าดินให้แก่กลุ่มเกษตรกรนำร่องในพื้นที่จังหวัดสงขลาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เป็นต้น |
|
1.2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยของประเทศ |
- โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National S&T Infrastructure) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริการด้านเทคนิค วิชาการที่มีมาตรฐานด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ (1) ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) (2) ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center) (3) ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center) (4) ศูนย์ระบบไซเบอร์-กายภาพ (Center for Cyber-Physical Systems) และ (5) สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Technology and Informatics Institute for Sustainability) - โครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure) เป็นศูนย์กลางการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิเคราะห์ ทดสอบ ตรวจสอบ และรับรองผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ได้มาตรฐานระดับสากล รวมทั้งให้บริการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากล ให้บริการเชิงเทคนิคและให้คำปรึกษา ได้แก่ (1) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical and Electronic Product Testing Center) (2) ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ สวทช. (NSTDA Characterization and Testing Service Center) (3) ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (Design and Engineering Consulting Service Center) (4) ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและเซรามิกอุตสาหกรรม (Industrial Ceramic and Houseware Product Testing Center) และ (5) ศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (Toxicology and Bio Evaluation Service Center) |
|
1.3 การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม |
- การพัฒนากลไกสนับสนุนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการจดทะเบียนจัดตั้งแล้ว 2 บริษัท ได้แก่ บริษัทไบโอ เจเนเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทเอไอไนน์ จำกัด - กลไกการส่งเสริมเขตนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EECi ซึ่งมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 6 ด้าน ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เทคโนโลยีการบินและอวกาศ และเครื่องมือทางการแพทย์ - สวทช. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักในการจัดทำข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยจัดระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนมากกว่า 500 คน และนำเสนอแนวทางและโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลก โดยนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการและมีข้อสั่งการให้จัดทำรายละเอียดแผนงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ต่อไป |
|
1.4 การพัฒนาและสร้างเสริมบุคลากรวิจัย |
- สวทช. มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ให้กับประเทศผ่านกลไกการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 โดยอาศัยความพร้อมของนักวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานที่ สวทช. มีอยู่ด้วย รวมถึงพัฒนาส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน สนใจเรียนรู้ด้าน วทน. เพิ่มมากขึ้น โดยการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับมัธยม ปริญญาตรี/โท/เอก/หลังปริญญาเอก รวม 708 คน และสนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรวิจัยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมงานในห้องปฏิบัติการของศูนย์แห่งชาติ จำนวน 569 คน |
|
1.5 ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม |
- สวทช. สามารถสร้างผลลัพธ์ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ มูลค่ารวม 65,255 ล้านบาท รวมทั้งผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาคการผลิตและบริการ มูลค่ารวม 13,796 ล้านบาท |
|
1.6 ผลการใช้จ่ายและบุคลากร |
- สวทช. มีผลการใช้จ่ายตามงบการเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ทั้งสิ้น 6,980.89 ล้านบาท มีรายได้รวมเท่ากับ 6,742.45 ล้านบาท มีบุคลากรทั้งสิ้น 3,096 คน เป็นบุคลากรสายวิจัยและวิชาการร้อยละ 70 (จำนวน 2,167 คน) และบุคลากรที่ไม่ใช่สายวิจัยและวิชาการร้อยละ 30 (จำนวน 929 คน) |
2. รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ สวทช. สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า งบการเงินของ สวทช. ดังกล่าวมีความถูกต้องตามที่ควร ในสาระสำคัญตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7810
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ