สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 July 2021 22:08
- Hits: 11494
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 3/2564 (วันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2564) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ สรุปสาระสำคัญและมติที่ประชุม ดังนี้
1. เรื่องเพื่อทราบ
1.1 ที่ประชุมได้รับทราบเรื่องที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
1.1.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เสนอโดยสำนักงาน
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จากข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ล่าสุด ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 511,164 คน และผู้เสียชีวิตรายใหม่ 8,674 คน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 192,278,425 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 4,133,988 คน โดยพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนในประเทศสำคัญๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,002 คน ผู้หายป่วย 8,248 คน และผู้เสียชีวิต 108 คน ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อสะสมรวม 439,477 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อสะสมจากการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จำนวน 410,614 คน และมีผู้เสียชีวิตสะสม 3,516 คน ข้อมูลการฉีดวัคซีนพบว่ามีผู้เข้ารับการฉีดเข็มแรกจำนวน 10.78 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.5 ต่อประชากร และเข็มที่สองจำนวน 3.44 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9 ต่อประชากร
1.1.2 สถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2564 เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าภายหลังจากปรับปัจจัยฤดูกาลแล้วพบว่าเครื่องชี้ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลความถี่สูง (High-frequency data) ล่าสุดถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่าการเดินทางภายในประเทศเพื่อออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังรุนแรงส่งผลให้ต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในหลายพื้นที่มากขึ้น
1.1.3 ความคืบหน้ามาตรการ Phuket Sandbox เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 – 21 กรกฎาคม 2564 รวม 9,358 คน ไม่พบเชื้อโควิด-19 จำนวน 9,339 คน และพบเชื้อโควิด-19 จำนวน 19 คน ขณะที่ยอดการจองห้องพักตามมาตรฐาน SHA+ สะสมระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนอยู่ที่ 244,703 คืน มีจำนวนห้องพักที่เปิดให้บริการ 27,000 ห้อง คิดเป็นอัตราการเข้าพักร้อยละ 10.12 ค่าใช้จ่ายต่อทริป 70,000 บาท (เฉลี่ย 5,500 บาทต่อคนต่อวัน) และสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยว 534.31 ล้านบาท และในส่วนของเที่ยวบิน คาดว่าในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมจะมีเที่ยวบินประมาณ 30 และ 40 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตามลำดับ
1.1.3.1 ผลการสำรวจความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้มาตรการ Phuket Sandbox ข้อมูลสำรวจระหว่างวันที่ 11-20 กรกฎาคม 2564 จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 25 คน พบว่าผู้ตอบสำรวจร้อยละ 64 ต้องการเดินทางไปยังจุดหมายอื่นๆ ในประเทศ อาทิ กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ขณะที่ผู้ตอบสำรวจร้อยละ 88 พึงพอใจมากที่สุดในอัธยาศัยไมตรีของคนภูเก็ต และร้อยละ 80 พึงพอใจมากที่สุดในคุณภาพและการบริการของโรงแรม SHA+ โดยเรื่องที่นักท่องเที่ยวพึงพอใจมากที่สุด ได้แก่ คุณภาพของรถบริการรับ-ส่ง SHA+ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ภาพรวมของการให้บริการ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต และการตรวจคัดกรองเมื่อเดินทางมาถึง สำหรับเรื่องที่นักท่องเที่ยวพึงพอใจน้อยที่สุด ได้แก่ ขั้นตอนการขอ COE การจองรถบริการรับส่ง และความชัดเจนของข้อมูลรายละเอียด หลักเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศไทย
1.1.3.2 แนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่พบระหว่างการดำเนินงาน สามารถสรุปได้ดังนี้
1.1.3.2.1 ปัญหาที่ดำเนินการแก้ไขแล้ว ได้แก่ (1) การคัดกรองคนเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ต สำหรับด้านคุณสมบัติผู้ขนส่งสาธารณะ ได้รายงานข้อมูลให้กระทรวงคมนาคมรับทราบปัญหาและพิจารณาร่างกฎระเบียบด้านสาธารณะนำไปปฏิบัติโดยเคร่งครัด และ (2) ขั้นตอนระหว่างก่อนการเดินทางและเมื่อเดินทางมาถึงที่หมายของนักท่องเที่ยว ประกอบด้วย (2.1) กรมการกงสุลโดยสำนักงานหนังสือเดินทางจังหวัดภูเก็ตได้พิจารณา COE ของนักท่องเที่ยว ณ สนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ต โดยพิจารณาความเหมาะสมเป็นกรณีไป (2.2) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจัดทำระบบการจองการตรวจเชื้อออนไลน์เพื่อสามารถให้นักท่องเที่ยวจองล่วงหน้า และ (2.3) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตเร่งประสานสายการบินเพื่อขอรับผังที่นั่งเครื่องบินในเที่ยวบินของนักท่องเที่ยวผู้ติดเชื้อให้เร็วขึ้น
1.1.3.2.2 ปัญหาที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ (1) การคัดกรองคนเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ต สำหรับด้านปริมาณเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์คัดกรอง อยู่ระหว่างจัดกำลังคนและอุปกรณ์เพิ่มเติมให้เพียงพอ รวมทั้งการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับลดเกณฑ์ในการอนุมัติให้จัดตั้งจุดตรวจหาเชื้อโดยภาคเอกชนเพิ่มเติม ขณะที่ด้านการคัดกรองคน อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีการสแกนใบหน้าและระบบตรวจสอบติดตามตัว และได้มีการเร่งประชาสัมพันธ์มาตรการคัดกรองเพื่อให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วถึง (2) นักท่องเที่ยวไม่ทราบหลักเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงและเงื่อนไขการกักตัว โดยให้นักท่องเที่ยวซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมกรณีนักท่องเที่ยวกลายเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง และ (3) การอยู่ระหว่างพำนักของนักท่องเที่ยว ซึ่งมีปัญหาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลรวมทั้งการกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงเมื่อเดินทางมาถึงหรือระหว่างพำนักอยู่ในภูเก็ต และต้องสำรองค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยในการประสานบริษัทประกันภัยในประเทศเพื่อหาทางแก้ไข โดยการนำเสนอกรมธรรม์ใหม่ที่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงและไม่ต้องสำรองจ่าย นอกจากนี้ยังรวมถึงการซื้อประกันภัยผิดประเภท และผลกระทบจากการห้ามเดินทางภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ประสานจัดหารถโดยสารเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางจากภูเก็ตมายังกรุงเทพฯ แล้ว
1.1.4 ความคืบหน้ามาตรการ Samui Plus Model เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 15 – 21 กรกฎาคม 2564 รวม 20 คน โดยยังไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ มาตรการ Samui Plus มีข้อจำกัดจากการที่ในปัจจุบันยังมีเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศในปริมาณที่น้อย
1.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
ที่ประชุมรับทราบ (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจไทย เสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ (2) ความคืบหน้าผลการปฏิบัติงาน Phuket Sandbox และ Samui Plus model เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
1.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1.3.1 มอบหมายให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเร่งรัดดำเนินมาตรการในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อโดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ การนำผู้ติดเชื้อที่พักคอยอยู่ตามที่พักอาศัยและสถานที่ต่างๆ เข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลสนามหรือสถานพยาบาลแรกรับอย่างเป็นระบบโดยเร็วที่สุด
1.3.2 มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาของรัฐบาลในทุกพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ตลอดจนวิธีการเข้าถึงความช่วยเหลือของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาลได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น นอกจากนี้ มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่ได้ดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกโดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนแต่ละกลุ่มได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางราชการได้อย่างถูกต้องครบถ้วนและทั่วถึง
1.3.3 มอบหมายให้สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ประสานให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ในโครงการที่สามารถดำเนินการได้ สำหรับโครงการที่ยังไม่พร้อมดำเนินการหรือไม่มีความเหมาะสมในการดำเนินการในช่วงเวลาปัจจุบัน ให้พิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เหมาะสมเพื่อที่จะสามารถนำงบประมาณในส่วนดังกล่าวไปดำเนินการในส่วนอื่นที่จำเป็นได้
1.3.4 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงการคลัง พิจารณาปรับปรุงโครงการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติมจากมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งให้พิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อจูงใจผู้มีกำลังซื้อสูงเข้าร่วมโครงการและใช้จ่ายมากขึ้น
1.3.5 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้ (1) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนหลักของประเทศ ตลอดจนข้อมูลด้านสาธารณสุขอื่นๆ ให้แก่ภาคเอกชนและประชาชนทราบผ่านช่องทางต่างๆ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันและสร้างความเชื่อมั่นต่อแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดและระบบสาธารณสุขของประเทศ (2) ชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนต่อแนวทางการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาต่อที่ภูมิลำเนาเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมุ่งเน้นพิจารณาตามระดับความรุนแรงของโรคและอาการของผู้ติดเชื้อเป็นสำคัญ (3) จัดสรรกระจายวัคซีนโดยพิจารณาจัดลำดับความสำคัญให้แก่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อรุนแรง กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ อาทิ กลุ่มครูและสถานศึกษา และกลุ่มแรงงานเพื่อให้ภาคการผลิตสามารถดำเนินต่อไปได้ และ (4) จัดหายาและเวชภัณฑ์ ต่างๆ เพื่อจัดสรรต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้ทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการ โดยให้เร่งประสานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสำรวจความต้องการในแต่ละพื้นที่โดยเร็ว
1.3.6 มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งติดตามดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ และช่องทางต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง
1.3.7 มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) หารือร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนที่มีศักยภาพเพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมร่วมกับรัฐบาล
1.3.8 มอบหมายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชสมุนไพร การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งส่งเสริมการแปรรูป และพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศและสนับสนุนการหาตลาดเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
2. เรื่องสืบเนื่อง
2.1 มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่อง เสนอโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2.1.1 แนวทางการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) โดยนักท่องเที่ยวพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 7 วัน และสามารถเดินทางท่องเที่ยวและต้องพำนักในพื้นที่อื่นๆ อีกเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) มีกำหนดเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 รายละเอียดสรุปได้ดังนี้
2.1.1.1 คุณสมบัติของนักท่องเที่ยวภายใต้ Phuket Sandbox ประกอบด้วย (1) หนังสือเดินทางและวีซ่า ที่ได้รับการประทับตรารับรอง โดยตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต (2) เอกสารหลักฐานยืนยัน แสดงระยะเวลาพำนักในโรงแรม SHA+ ในภูเก็ตมาแล้ว 7 คืน และเอกสารการตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR (ผล Swab ครั้งที่ 1 วันที่ 0 และครั้งที่ 2 วันที่ 6 เป็นลบ หรือ Not Detected) (3) เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เดินทางพร้อมผู้ปกครองที่แสดงเอกสารผ่านตามเกณฑ์ (4) เอกสารยืนยันการจองโรงแรมที่พัก SHA+ ในพื้นที่นำร่องอื่น และ (5) รายงานตัวผ่านระบบแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และเปิดเข้าถึงสถานที่หรือรายงานตัว ณ ที่พัก SHA+ ตลอดระยะเวลาที่พำนัก
2.1.1.2 คุณสมบัติของนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย (Expat) ประกอบด้วย (1) เอกสารการฉีดวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม วัคซีน Astrazeneca 1 เข็ม ไม่น้อยกว่า 14 วัน (2) ผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR หรือ Rapid Antigen Test ก่อนเดินทางและมีผลเป็นลบ (negative) ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง (3) เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากับผู้รับวัคซีนให้เดินทางพร้อมผู้เดินทางได้ (4) แสดงแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และเปิดให้เข้าถึงสถานที่ และ (4) ลงทะเบียน QT14 สำหรับเข้าพักในพื้นที่นำร่อง
2.1.2 แนวทางการรับรองวัคซีน Sputnik V เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวรัสเซียและประเทศใช้วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนหลักสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้
2.1.3 แนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณและกำลังคนอย่างเป็นระบบ ซึ่งครอบคลุมการตรวจ RT-PCR และ Rapid Antigen Test เพื่อยกระดับการควบคุมโรคแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายัง Phuket Sandbox และ Samui Plus Model
2.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
2.2.1 เห็นชอบในหลักการแนวทางการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดำเนินการ ดังนี้
2.2.1.1 มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวประสานภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจของคนในพื้นที่ร่วมกัน และพิจารณาจัดเตรียมแผนการดำเนินการบนระเบียบ หลักเกณฑ์ และมาตรฐานเดียวกันกับการดำเนินการของ Phuket Sandbox เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่
2.2.1.2 มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดแผนการเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่นำร่องอื่น เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณาต่อไป และให้พิจารณาจัดทำแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ และ ศบค. พิจารณาต่อไป
2.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
2.3.1 มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดำเนินการดังนี้ (1) ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าในพื้นที่นำร่องให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อป้องกันการนำเชื้อโควิด-19 เข้าไปแพร่ระบาดในพื้นที่ (2) ประสานกระทรวงมหาดไทย พิจารณานำแนวทางการดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้ Phuket Sandbox เผยแพร่ให้แก่จังหวัดอื่นๆ เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการนำไปวางแนวทางระยะต่อไป และ (3) ประสานกระทรวงการต่างประเทศ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศไทยในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงความคืบหน้าและความสำเร็จในการดำเนินการ Phuket Sandbox ให้แก่สถานทูตประเทศต่างๆ และสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ รับทราบอย่างต่อเนื่อง
2.3.2 มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เร่งรัดจัดทำข้อเสนอคำของบประมาณและแผนกำลังคนเพื่อรองรับการยกระดับศักยภาพของจุดคัดกรองให้เพียงพอ ทั้งกระบวนการคัดกรองผู้เดินทางด้วยระบบดิจิทัล และการจัดหา Rapid Antigen Test และอุปกรณ์ต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 1 สัปดาห์ และประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ในรายละเอียดของแหล่งเงิน เพื่อจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
2.3.3 มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดติดตามการพิจารณาขึ้นทะเบียนรับรองวัคซีน Sputnik V เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนดังกล่าวสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทยได้
3. เรื่องเพื่อพิจารณา
3.1 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เสนอโดยทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ (ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ) โดยมีสาระสำคัญดังนี้
3.1.1 แนวทางการดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ประกอบด้วย (1) กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) (2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional)
3.1.2 การจัดตั้งศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว (LTR-Service center) เพื่อเป็นหน่วยงานที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่มีความประสงค์จะเข้ามาพำนักในประเทศไทยในระยะยาว โดยจะทำหน้าที่หลักในการประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความยุ่งยากและความซ้ำซ้อนสำหรับผู้พำนักระยะยาวในการติดต่อกับราชการ รวมถึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้บริการนักลงทุนต่างประเทศในระยะต่อไป
3.2 มติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ
3.2.1 เห็นด้วยในหลักการของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาข้อเสนอในรายละเอียดและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ดังนี้
3.2.1.1 มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาความเหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีประเภทต่างๆ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านการศุลกากร
3.2.1.2 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาความเหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดวีซ่าประเภทใหม่ รวมทั้งข้อยกเว้นและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
3.2.1.3 มอบหมายให้กระทรวงแรงงานพิจารณาความเหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการทำงานและอนุญาตให้ทำงานของคนต่างด้าว
3.2.1.4 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาความเหมาะสมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง กำกับดูแล และบริหารศูนย์บริการผู้พำนักระยะยาว
3.3 ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
3.3.1 มอบหมายให้ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ ประสานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้าการดึงดูดนักลงทุนและแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และรายงานผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจฯ ทราบต่อไป
3.3.2 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ศึกษาความเป็นไปได้ของการขยายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในการรองรับการลงทุน
3.3.3 มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ประสานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการรายย่อย โดยพิจารณาปรับปรุงแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงมาตรการได้มากขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7809
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ