มาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 27 July 2021 21:57
- Hits: 11418
มาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการของมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ตามที่เสนอ
2. มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ต่อไป ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการพิจารณากำหนดกลไกการตรวจสอบยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและการจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคาร พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน รับรู้และเข้าใจถึงหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนด้วย
โดยให้ สศช. รับความเห็นของหน่วยงาน ร่วมทั้งความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ที่ขอให้ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัดของ วธ. ด้วย
สาระสำคัญ
มาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชนที่เสนอในครั้งนี้ เป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง นักเรียนและนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. มาตรการให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ
1.1 หลักการให้ความช่วยเหลือ
1) กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนในระบบการศึกษาไทย
2) ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
1.2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือ ประกอบด้วย
1) การสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ปกครองในอัตรา 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คน เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่เพิ่มขึ้นจากการปรับรูปแบบการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากระบบปกติ ที่ทำให้ผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และเป็นการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2) การจัดสรรค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยจัดการเรียนรู้ให้แก่สถานศึกษา เพื่อลดค่าใช้จ่ายของครูในการดูแลนักเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ครูมีภาระในการติดตามและจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
3) การขอความร่วมมือให้ลดหรือชะลอการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน เป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 และมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โดย ศธ. จะดำเนินการกำหนดให้สถานศึกษาลดค่าใช้จ่ายหรือตรึงค่าใช้จ่ายในการเรียกเก็บจากผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชนโดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐและโรงเรียนนานาชาติในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2564 ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้ดำเนินการคืนค่าธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมอื่นแก่ผู้ปกครองไปแล้วรวมจำนวน 2,275.27 ล้านบาท
นอกจากนี้ ศธ. จะได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชนในกลุ่มที่ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐและโรงเรียนนานาชาติ เพื่อใช้ดำเนินการตามมาตรการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 และมาตรา 34 ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 ตามขั้นตอนต่อไป
1.3 ประมาณการกรอบวงเงิน ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจะมีกรอบวงเงินประมาณ 23,000 ล้านบาท
2. มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
2.1 หลักการให้ความช่วยเหลือ
1) กลุ่มเป้าหมาย นิสิต นักศึกษาชาวไทยระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน
2) ระยะเวลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ทั้งนี้ กรณีที่นักศึกษาได้ชำระค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาแล้ว ให้สถาบันอุดมศึกษาให้การช่วยเหลือตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือ โดยการชำระส่วนลดคืนให้แก่นักศึกษาโดยเร็วต่อไป
2.2 แนวทางการให้ความช่วยเหลือ ภายใต้มาตรการการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย
1) การลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดยการให้ส่วนลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามอัตราค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เรียกเก็บดังนี้ (1) ลดค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ร้อยละ 50 (2) ส่วนที่ 50,001 - 100,000 บาท ลดร้อยละ 30 และ (3) ส่วนที่เกิน 100,000 บาท ลดร้อยละ 10 ซึ่งการให้ส่วนลด จะเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6 : 4 ซึ่งจะเป็นการให้ส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50 หรือเท่ากับสถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 20 และภาครัฐสนับสนุนเพิ่มเติมอีกไม่เกินร้อยละ 30
2) การลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน โดยภาครัฐจะสนับสนุนค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของเอกชนในอัตรา 5,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ อว. ได้ประสานให้สถาบันอุดมศึกษาของเอกชน พิจารณาให้ส่วนลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มเติม หรือสนับสนุนมาตรการอื่นๆ อาทิ การขยายเวลาผ่อนชำระหรือผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา การจัดหาอุปกรณ์/โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับนักศึกษายืมเพื่อศึกษาออนไลน์ ส่วนลดค่าหอพักนักศึกษา
2.3 ประมาณการกรอบวงเงิน ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จะมีกรอบวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7806
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ