แผนระดับที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 – 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 July 2021 11:21
- Hits: 14939
แผนระดับที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 – 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนระดับที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุข (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ (แผนจัดการฯ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 – 2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ทั้งนี้ (ร่าง) แผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ (แผนจัดการฯ) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2564 – 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีความหลากหลายทางชีวภาพหรืออาจได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ รวมทั้งเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานเชิงบูรณาการเพื่อเสนอแผนจัดการฯ รายพื้นที่อย่างน้อย 12 แห่ง ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. (ร่าง) แผนจัดการฯ (ฉบับที่ 1) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 เป้าหมาย |
1.2 ตัวชี้วัด |
1.3 กลไกขับเคลื่อน |
1.4 แนวทาง การดำเนินงาน |
|||
(1) อนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรในเขตพื้นที่อนุรักษ์ และมีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน |
• สมุนไพรได้รับการคุ้มครองและอนุรักษ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ของพื้นที่เขตอนุรักษ์ • พื้นที่เขตอนุรักษ์ที่เป็นถิ่นกำเนิดสมุนไพรได้รับการประกาศแผนจัดการฯ ครอบคลุมทุกพื้นที่ |
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และนายทะเบียนจังหวัดเป็นหลักในการจัดทำแผนอนุรักษ์ ฟื้นฟูสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร โดยการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคเอกขน ภาคประชาสังคม และประชาชน รวมถึงสร้างความเข้าใจหลักในการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์จากสมุนไพร และทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน |
• จัดทำแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่ กำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้บุคคลใดเข้าไปในเขตอนุรักษ์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ หรือคุณค่าของสมุนไพร หรือมิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ • วางระบบการบริหารจัดการระดับพื้นที่ รวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพบทบาท และการมีส่วนร่วมของกลุ่มภาคีเครือข่ายในการคุ้มครองสมุนไพร • ดำเนินการตามรายละเอียดของตัวชี้วัดตามเป้าหมายในแต่ละพื้นที่ โดยยึดจากแผนจัดการภาพรวมของประเทศ หากพื้นที่ใดเข้าเกณฑ์ในการจัดทำแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่ก็ให้ สธ. ประกาศได้ |
|||
(2) เสริมสร้างศักยภาพ บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการคุ้มครองสมุนไพร เพื่อประโยน์ในการร่วมมือ และประสานงานให้เกิดประสิทธิภาพ โดยการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ |
• มีแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่อย่างเหมาะสมเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ข้อมูลทางวิชาการ และเกิดการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ ภายในปี 2565 • หน่วยงานระดับพื้นที่และประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ปกป้อง คุ้มครองสมุนไพรเพิ่มขึ้นครอบคลุมทุกพื้นที่ |
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ สผ. สถ. นายทะเบียนจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างความรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ตลอดจนเร่งสร้างจิตสำนึก เสริมสร้างศักยภาพและบทบาทของทุกภาคส่วนในการคุ้มครองสมุนไพร และบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร |
||||
(3) สำรวจ ศึกษาวิจัยสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองสมุนไพรฯ |
• มีข้อมูลจำนวนชนิดพันธุ์ของสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ครบถ้วน • สมุนไพรได้รับการจัดทำทะเบียน ร้อยละ 100 • มีการศึกษาหรือวิจัยสมุนไพรและนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 ต่อปี • จำนวนพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพรเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ของพื้นที่เขตอนุรักษ์ |
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ สผ. สถ. นายทะเบียนจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ง ชาติ สถาบันการศึกษา ชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ผู้รู้ และ นักวิชาการร่วมสำรวจ ตรวจสอบข้อมูลจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพร บริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร และการใช้ประโยชน์สมุนไพร โดยให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสำรวจการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงการต่อยอดวิจัยสมุนไพรจากภูมิปัญญา เพื่อให้เกิดความหวงแหนและจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรสมุนไพรในพื้นที่ |
||||
(4) เสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่ชุมชน และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น |
• อัตราการขยายตัวของมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 ต่อปี • ชุมชนและประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกสมุนไพรเป็นอาชีพ และใช้สมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ |
กรมการแพทย์แผนไทยฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นายทะเบียนจังหวัด และเครือข่ายภาคประชาชนส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่การผลิตและขยายผลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างมีคุณภาพเพื่อรองรับความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โภชนาเภสัช เวชสำอางและกลุ่มเครื่องสำอาง สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโรค และสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับแนวทางการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน |
1.5 การจัดทำแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรระดับพื้นที่ ภายใต้แผนจัดการฯ (ฉบับที่ 1) มีเป้าหมายที่จะประกาศแผนจัดการฯ ระดับพื้นที่อย่างน้อย 12 แห่ง* ครอบคลุมทั้ง 12 เขตสุขภาพ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกและพิจารณาพื้นที่เพื่อประกาศเป็นแผนจัดการคุ้มครองสมุนไพรระดับพื้นที่ ดังนี้
ลำดับ |
หลักเกณฑ์ฯ |
1 |
เป็นพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากการกระทำของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอันมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือการลดลงของพันธุกรรม |
2 |
เป็นพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจถูกทำลาย |
3 |
ต้องสำรวจพบสมุนไพรสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ (1) สมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาวิจัย (2) สมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และ (3) สมุนไพรที่อาจจะสูญพันธุ์ โดยได้รับอนุญาตและมีส่วนร่วมจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ |
4 |
ไม่เป็นที่ดินที่อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง |
5 |
เป็นพื้นที่ที่ชุมชนและประชาชนมีความต้องการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างเหมาะสม |
6 |
ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งเงินทุนซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการอนุรักษ์ คุ้มครองสมุนไพรและพื้นที่ถิ่นกำเนิดของสมุนไพร โดยไม่เอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือธุรกิจภายนอกที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างไม่เหมาะสม |
7 |
ต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการเป็นแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพร |
8 |
ต้องผ่านความเห็นชอบจากมติคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการคุ้มครองฯ |
1.6 การติดตามและประเมินผล โดยการประชุมคณะทำงานเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและประเมินสถานการณ์สมุนไพร ลงพื้นที่ศึกษา ประเมินผลติดตามจำนวนสมุนไพรแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่เขตอนุรักษ์โดยนายทะเบียนจังหวัดทุกๆ 6 เดือน และจัดทำรายงานประเมินผลการใช้แผนจัดการฯ และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสมุนไพร และบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร
2. ในส่วนของงบประมาณ จะใช้จ่ายจากเงินกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยฯ โดยประมาณการวงเงินแผนระยะสั้น 2 ปี จำนวนทั้งสิ้น 1.735 ล้านบาท
_____________________
1พื้นที่เขตอนุรักษ์ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 1,687 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติ 155 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 80 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 60 แห่ง สวนรุกขชาติ 56 แห่ง สวนพฤกษศาสตร์ 18 แห่ง วนอุทยาน 97 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติ 1,221 แห่ง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7641
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ