ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 July 2021 00:14
- Hits: 17399
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2564 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ และให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตของกระทรวงมหาดไทยและความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไฟพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กพศ. ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สงขลา สระแก้ว ตราด หนองคาย นครพนม มุกดาหาร เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส ประกอบด้วย
1.1 แนวทางการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อกระจายความเจริญสู่ภมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ |
เป้าหมายการพัฒนา |
เพื่อให้เกิดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมและการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการพัฒนาเมืองในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น |
แนวทางการดำเนินงาน |
ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ การจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและการบริหารจัดการแรงงานและผู้ประกอบการ |
กลไกการบริหารจัดการ |
- จัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานเพื่อดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น ด้านสิทธิประโยชน์ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุน - กำหนดกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ โดยให้หน่วยงานในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และให้มีแนวทางการประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับหน่วยงานส่วนกลาง |
1.2 ข้อเสนอภารกิจ แผนงาน โครงการและมาตรการ ซึ่งได้นำโครงการและมาตรการเพิ่มเติมจากพื้นที่ คณะอนุกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาบรรจุเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงาน เช่น
หัวข้อ |
การดำเนินงาน |
|
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และด่านศุลกากร |
- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายและมุกดาหาร - ขอขยายขอบเขตพื้นที่พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ตราด สระแก้ว และหนองคาย |
|
การพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ |
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงอุตสาหกรรม มีการดำเนินการ เช่น - เน้นการพัฒนาฐานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ต่อเนื่องในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี สระแก้ว และตราด เชื่อมโยงกับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก - เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ล้านนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายเชื่อมโยงกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC) |
|
การจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง |
ทบทวนสิทธิประโยชน์และกิจการเป้าหมายใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและปรับปรุงอัตราค่าเช่าและค่าธรรมเนียมในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ |
|
การบริหารจัดการแรงงานและผู้ประกอบการ |
กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) พิจารณาปรับปรุงข้อกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการแรงงาน |
1.3 ข้อเสนอในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ ซึ่งใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาและตาก โดยกรมธนารักษ์ได้เสนอ กพศ. พิจารณา ดังนี้
เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ |
ประเด็นพิจารณา |
สงขลา |
เดิมการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ได้รับจัดสรรที่ดินในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา จำนวน 2 แปลง โดยแปลงที่ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 629 ไร่ และแปลงที่ 2 มีเนื้อที่ประมาณ 345 ไร่ ต่อมาเทศบาลตำบลสำนักขามมีความประสงค์ขอใช้ที่ราชพัสดุที่ได้จัดสรรให้ กนอ. เช่า (แปลงที่ 2) บางส่วน เนื่อที่ประมาณ 19 ไร่ เพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 ซึ่ง กนอ. พิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงเสนอ กพศ. พิจารณาอนุญาตให้เทศบาลตำบลสำนักขามเช่าพื้นที่ดังกล่าวและเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เช่าของ กนอ. ให้สอดคล้องกับเนื้อที่ที่มีการปรับลดต่อไป |
ตาก |
บริษัทเอกชนผู้ได้รับสิทธิการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากไม่มาดำเนินการรับเงื่อนไขการเช่าของทางราชการ จึงถือว่าสละสิทธิการเช่า ดังนั้น กรมธนารักษ์จึงเสนอ กพศ. พิจารณามอบหมายให้กรมธนารักษ์เปิดประมูลสรรหาเอกชนลงทุนรายใหม่ |
1.4 กพศ. มีมติ ดังนี้
1.4.1 เห็นชอบวัตถุประสงค์ เป้าหมายการพัฒนาแนวทางการดำเนินงาน และกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่อไป
1.4.2 เห็นชอบในหลักการข้อเสนอภารกิจ แผนงานโครงการและมาตรการ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการดำเนินงาน ระยะเวลาที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และตัวชี้วัดความสำเร็จในการดำเนินงานให้มีความชัดเจน โดยรับข้อเสนอโครงการและมาตรการเพิ่มเติมไปพิจารณาด้วย
1.4.3 เห็นชอบให้เทศบาลตำบลสำนักขามใช้พื้นที่ประมาณ 19 ไร่ ในที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาของแปลงที่จะจัดให้ กนอ. เช่า (แปลงที่ 2) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงการนิคมอุตสาหกรรมสงขลากับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2
1.4.4 เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เช่าของ กนอ. (แปลงที่ 2) ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลาให้สอดคล้องกับเนื้อที่ที่มีการปรับลดลงสำหรับพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ของ กนอ. และมอบหมายให้คณะทำงานสรรหา คัดเลือก เจรจา และกำกับติดตามการดำเนินการของผู้ลงทุนในที่ดินราชพัสดุที่กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาให้ส่วนราชการใช้ประโยชน์ และพิจารณาจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุให้เป็นไปตามกฎหมายที่ราชพัสดุต่อไป
1.4.5 เห็นชอบให้เปิดประมูลสรรหาผู้ได้รับสิทธิพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และมอบหมายกรมธนารักษ์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. การกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและกรอบแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ ที่ประชุมได้พิจารณา ดังนี้
2.1 หลักการการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและกรอบแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา เช่น ต้องเชื่อมโยงการพัฒนาตั้งแต่ 3 จังหวัดขึ้นไป พื้นที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา และเครือข่ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเชื่อมโยงในลักษณะของห่วงโซ่มูลค่า
2.2 การศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะกำหนดให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในแต่ละระเบียงเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาส วัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนา และข้อเสนอประเภทกิจกรรมที่ควรสนับสนุน ได้แก่
พื้นที่ |
เป้าหมาย |
|
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง |
เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน |
|
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคาย |
เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ |
|
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลาง-ตะวันตก ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี |
เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ภาคตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต |
|
พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช |
เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน |
2.3 ข้อเสนอแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเน้นให้เกิดเครือข่ายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ
2.4 กพศ. มีมติ ดังนี้
2.4.1 เห็นชอบในหลักการการกำหนดพื้นที่และแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง-ตะวันตก และภาคใต้ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ พิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ของแต่ละระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ กิจการเป้าหมาย และสิทธิประโยชน์ และนำเสนอ กพศ. ต่อไป
2.4.2 มอบหมายให้จังหวัดที่อยู่ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 4 ภาค ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่ผู้ประกอบการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษแต่ละแห่ง รวมทั้งวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทางการดำเนินงาน และการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่
3. กลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษพิจารณาจัดตั้งกลไกการบริหารจัดการในระดับพื้นที่เพื่อประสานการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปตามนโยบายของ กพศ. และสอดคล้องกับความต้องการของภาคส่วนในพื้นที่ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7633
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ