ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) ‘One Country One Platform’ ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 July 2021 00:06
- Hits: 17333
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) ‘One Country One Platform’ ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) “One Country One Platform” ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Thailand Digital Platform) “One Country One Platform” ของคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับไทยแลนด์ดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวม 5 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม 2) ด้านกฎหมาย 3) ด้านงบประมาณ 4) ด้านการบริหาร และ 5) ด้านบุคลากร
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ดศ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ดศ. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มควรเร่งพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID/KYC) และระบบลงชื่อเข้าใช้งานครั้งเดียว (Single Sign-on) และเร่งพัฒนาระบบเกตเวย์บริการดิจิทัล (Digital Service Gateway) เพื่อการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับเอกชน |
- สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการพัฒนาระบบ Digital ID เพื่อให้บริการของภาครัฐนำไปใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อระบบดังกล่าวกับแอปพลิเคชัน D.DOPA ที่จัดทำขึ้นโดยกรมการปกครอง และบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลที่จัดทำขึ้น โดยบริษัท National Digital ID (NDID) ให้คำแนะนำ และให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ในการนำ Digital ID ไปใช้ในการให้บริการประชาชน และได้จัดทำเป็นมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อให้แนวทางการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลมีความสอดคล้องกับบริบทการใช้งานความต้องการทางธุรกิจ และคุณลักษณะของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในประเทศไทย รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ Digital ID สำหรับบริการภาครัฐ สำหรับนิติบุคคล และจัดทำมาตรฐานและหลักเกณฑ์การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-signature) สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ - สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้มีการให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยง หน่วยงานภาครัฐ รองรับการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กรอบแนวคิดของเกตเวย์บริการดิจิทัล (Digital Service Gateway) อีกทั้งรองรับการมีส่วนร่วมระหว่างส่วนราชการในการพัฒนาหรือนำระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์พื้นฐาน (Common Services) ของหน่วยงานให้บริการผ่านเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ |
|
2. ด้านกฎหมาย ควรปรับปรุงกระบวนการยกร่างกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ได้แก่ การร้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวกับการเชื่อมโยง และเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การจัดทำกฎหมายรองรับการเป็นนายทะเบียนของสำนักงานสถิติแห่งชาติสำหรับจัดทำดาต้าแคตตาล็อก (Data Catalog) ในภาครัฐ |
|
3. ด้านงบประมาณ ควรปรับปรุงกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการให้รวดเร็วและลดการทุจริต และดำเนินการตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐที่ซ้ำซ้อนทั้งด้านการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ |
- กระทรวงการคลังได้ดำเนินการเกี่ยวกับสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน รวมถึงงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐและการจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการรับบริการภาครัฐของประชาชน ทั้งนี้ เห็นควรให้มีการบริหารจัดการอย่างมีมาตรฐานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงไปยังไปยังบริการต่างๆ ของภาครัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความซ้ำซ้อนในเชิงงบประมาณ รวมทั้งการปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้รองรับการจัดจ้างการพัฒนาระบบ ตามมาตรฐานเรื่องสถาปัตยกรรม เทคโนโลยี และรูปแบบการเชื่อมต่อระบบข้อมูลตามมาตรฐานที่กำหนด - ดศ. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud Service : GDCC) โดยมีการให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีความต้องการใช้ทรัพยากรทางคอมพิวเตอร์ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย พื้นที่จัดเก็บข้อมูลดิจิทัล โดยที่ GDCC จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญของภาครัฐที่จะต่อยอดสู่ Government as a Platform อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงดำเนินงานด้าน Big Data และ Open Data ที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมในอนาคต |
|
4. ด้านการบริหาร ควรเสนอให้ ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นธรรม |
- ดศ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐอย่างเป็นธรรม และเห็นควรให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) นำกรอบแนวความคิดของรายงานการศึกษาดังกล่าวใช้ประกอบการจัดทำ แผนแม่บทพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap) เพื่อให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกมิติในการยกระดับการบริการภาครัฐให้เป็นรูปแบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อและทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐได้ทุกที่ ทุกเวลาตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ |
|
5. ด้านบุคลากร รัฐบาลควรเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรภาครัฐในเรื่องของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) |
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการการพัฒนาบุคลากรภาครัฐในเรื่องของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในทักษะด้านดิจิทัลปริมาณที่มากพอต่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐที่จะนำไปสู่รัฐบาลดิจิทัล โดยการจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการระบบคลาวด์ รวมถึงสามารถบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และสามารถนำเอาข้อมูลขนาดใหญ่มาทำการประมวลผลอย่างเป็นระบบเพื่อการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ต่อไป การสร้างแพลตฟอร์มพัฒนาบุคลากรด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Training) เช่น บุคลากรที่ต้องการพัฒนาทักษะของตนเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิศวกรข้อมูล ฯลฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งภาครัฐและเอกชน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7632
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ