สรุปผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 21 July 2021 00:04
- Hits: 17569
สรุปผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) ได้เสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการได้มีข้อสังเกต รวม 8 ประเด็น ได้แก่ 1) การทบทวนระบบตัวชี้วัด 2) การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ 3) การสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็น “ยามเฝ้าระวัง” 4) การแก้ปัญหาฝุ่นและมลพิษจากไอเสียรถยนต์ดีเซล 5) การใช้เครื่องจักรกลเพื่อลดการเผาในที่โล่งจากเกษตรกรรม 6) การใช้เทคโนโลยีเครื่องวัดค่าฝุ่นเพื่อลดการเผา รวมถึงการควบคุมการนำเข้าและส่งออก 7) การแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน 8) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ทส. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ทส. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ และได้จัดทำสรุปผลการพิจารณาแนวทางความเหมาะสมของรายงานและข้อสังเกตดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ |
การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
|
1. การแก้ไขปัญหามลพิษจากการเผาในที่โล่งและการใช้เครื่องจักรกลเพื่อลดการเผาในที่โล่งจากเกษตรกรรม |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย กษ. เห็นว่า รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณนอกจากจะช่วยเหลือให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรกลที่ช่วยในการเก็บเกี่ยวแล้วควรสนับสนุนเครื่องจักรกลในการเตรียมดินปลูกพืชที่มีราคาถูกและคุ้มค่าต่อการลงทุน |
|
2. การแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลพิษจากยานพาหนะและไอเสียรถยนต์ดีเซล |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย คค. มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบำบัดมลพิษที่ออกจากท่อไอเสียด้วยการกำหนดมาตรฐานไอเสียรถยนต์ดีเซลเป็นยูโร 5 เพื่อให้รถยนต์ดีเซลต่ำกว่ามาตรฐานต้องติดตั้งระบบบำบัดไอเสียนั้น ต้องพิจารณาการบังคับใช้มาตรฐานรถยนต์ยูโร 5 ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงยูโร 5 เพื่อให้การควบคุมการระบายมลพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด |
|
3. การแก้ไขปัญหามลพิษอุตสาหกรรม |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยในปัจจุบัน อก. มีกฎหมายเพื่อใช้กำกับและดูแลโรงงานด้านมลพิษอากาศ ได้แก่ กฎหมายควบคุมการระบายอากาศเสียจากโรงงาน โดยกำหนดค่ามาตรฐานอากาศเสียออกจากปล่อง กฎหมายเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลสิ่งแวดล้อมโรงงาน โดยกำหนดให้โรงงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อสิ่งแวดล้อม ต้องรายงานชนิดและปริมาณสารมลพิษที่ระบายออกจากโรงงาน |
|
4. การแก้ไขปัญหาจากแหล่งกำเนิดจากไฟป่า |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ หน่วยงานรัฐควรต้องทำแบบจำลองประเมินมลพิษจากการชิงเผาชีวมวลในป่า (ทำแนวกันไฟ) เพื่อวางแผนลดผลกระทบโดยใช้แบบจำลองควบคู่อุตุนิยมวิทยา-เคมี หรือแบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ เพื่อให้แน่ใจว่าการชิงเผา ทั้งเพื่อทำแนวกันไฟจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเกินค่าที่ยอมรับได้ |
|
5. การแก้ไขฝุ่นควันและมลพิษข้ามแดน |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ กต. เห็นว่า นอกจากความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้กลไกในกรอบอาเซียนต่างๆ อาทิ ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่ดำเนินการอยู่แล้ว ฝ่ายไทยอาจพิจารณาใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีที่มีอยู่ควบคู่ไปด้วย เช่น การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา และการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนและเจ้าแขวงไทย-ลาว ซึ่งมี มท. เป็นเจ้าภาพ |
|
6. การแก้ไขปัญหาจากภาคประชาสังคม |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ “ยามเฝ้าระวัง” (Citizen Watchdog) ซึ่ง มท. โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้แจ้งกำชับจังหวัด แจ้งกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายให้ความร่วมมือสนับสนุนการใช้ระบบบัญชาการดับไฟป่า (Line chatbot) รวมทั้งบูรณาการร่วมกับส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 |
|
7. การทบทวนระบบตัวชี้วัด |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยกำหนดให้เพิ่มความเข้มงวดของเกณฑ์มาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็นตัวชี้วัดหลักที่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ อยู่ระหว่างดำเนินการและได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศโดยทั่วไปเฉลี่ยรายปี และเฉลี่ย 24 ชั่วโมงผ่านระบบ VDO conference ครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 |
|
8. การสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ |
เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดย สธ. สนับสนุนการใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในการดำเนินงานเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองการควบคุมเหตุรำคาญจากฝุ่นละออง และประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เสี่ยงทุกแห่ง รวมทั้ง สร้างต้นแบบแกนนำชุมชน แกนนำกลุ่มวัยในส่วนที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นแกนหลักในการเฝ้าระวังสถานการณ์ สื่อสารความรู้ แจ้งเตือนดูแลสุขภาพในระดับพื้นที่ (Watchdog) และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากกิจกรรมการเผาที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7631
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ