โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 July 2021 22:50
- Hits: 14479
โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอดังนี้
1. การดำเนินโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ (โครงการฯ) โดยมีวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts: TASSHA) หรือธัชชา เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
2. องค์ประกอบของคณะกรรมการระดับนโยบายและระดับบริหารสำหรับโครงการฯ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (คณะกรรมการอำนวยการธัชชา) และคณะกรรมการวิชาการในแต่ละด้าน
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. ระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (การวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ) และการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และนวัตกรรมของประเทศ โดยจะนำมาสู่วิธีการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม การสร้างเทคนิค องค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการวิจัยและการพัฒนากำลังคนด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (ด้านสังคมศาสตร์ฯ) ของประเทศ ที่สอดคล้องกับการทำงานและการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติต่อไป สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบายฯ) ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 มีมติเห็นชอบแนวคิดในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ฯ ของ อว. เพื่อสนับสนุนให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ และให้มีหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติต่อไป
2. อว. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งธัชชา (ตามคำสั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ 12/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ สั่ง ณ วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564) และจัดตั้งธัชชา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสังคมศาสตร์ฯ ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจโดยสรุป เช่น สนับสนุนการพัฒนาด้านสังคมศาสตร์ฯ ให้เป็นคลังปัญญาระดับชาติ พัฒนา บริหารจัดการและเผยแพร่องค์ความรู้ที่สำคัญ รวมทั้งบูรณาการองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ฯ ควบคู่กับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนากำลังคน นำผลการศึกษาการวิจัยและพัฒนาไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เป็นต้น โดยให้มีสำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำนักงานบริหารธัชชา) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการกิจการทั่วไป บริหารแผนงาน งบประมาณ และบุคลากรของธัชชา แบ่งส่วนงานภายในเป็น 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา สถาบันโลกคดีศึกษา สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น (ตามประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง การจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564) และมอบหมายผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันภายในธัชชา (ตามคำสั่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง มอบหมายผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันภายในวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) เพื่อให้การปฏิบัติราชการและขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวข้างต้นเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562
3. สาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียดโครงการ |
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ และการบูรณาการข้ามศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ (2) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและวิชาการ และบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ฯ ที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนเป็นคลังปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมในปัจจุบัน (3) เพื่อสร้างความร่วมมือและระดมสมองจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เพื่อการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ฯ กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ (4) เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ต่อยอดไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม (Social Innovation) ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้งานวิจัยเกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และสร้างความภาคภูมิใจในรากเหง้าของคนในท้องถิ่น |
ระยะเวลาดำเนินการ |
พ.ศ. 2564 - 2568 |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
งบประมาณ และแหล่งที่มา |
ในระยะแรกใช้งบประมาณจาก อว. และจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรประจำปี |
แผนการดำเนินงาน |
อว. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินโครงการฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 - 2568 สรุปได้ ดังนี้ (1) กำหนดประเด็นการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลต่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งในระยะแรกประกอบด้วยสถาบันเฉพาะทาง 5 ด้านหลัก (5 สถาบัน) ได้แก่ สุวรรณภูมิศึกษา โลกคดีศึกษา เศรษฐกิจพอเพียง พิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และช่างศิลป์ท้องถิ่น (2) กำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ระดับ คือ คณะกรรมการอำนวยการธัชชา และคณะกรรมการวิชาการของสถาบันต่างๆ (3) สถาบันภายในธัชชาทั้ง 5 สถาบัน จัดทำแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิบัติการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างผลผลิตและผลลัพธ์ใน 4 ด้านหลัก คือ องค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร การวิจัย และการนำไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลกระทบสูงต่อประเทศ (4) สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในรูปแบบ Consortium ด้านสังคมศาสตร์ฯ อย่างบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนทั่วทุกภูมิภาคตามเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่น (5) อว. จะจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้สำหรับสนับสนุนกิจกรรมของสถาบันในแต่ละด้าน (6) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอทุกปี |
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
(1) พัฒนาองค์ความรู้และกระบวนทัศน์ใหม่ในด้านสังคมศาสตร์ฯ ที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม และสามารถต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (2) เกิดภาคีเครือข่ายด้านสังคมศาสตร์ฯ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ การพัฒนาบุคลากรของประเทศ และให้เกิดความตระหนักรู้และความเข้าใจต่อประเทศไทยอย่างถูกต้อง (3) สร้างนักวิชาการ/นักวิจัยในภาคีเครือข่าย เพื่อโอกาสในการพัฒนา และใช้ประโยชน์จากกิจกรรมทางด้านสังคมศาสตร์ฯ (4) รวบรวมฐานข้อมูลองค์ความรู้ที่สำคัญและภูมิปัญญาด้านสังคมศาสตร์ฯ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7627
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ