ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคี อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ปี พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 20 July 2021 21:48
- Hits: 13397
ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 และการประชุมรัฐภาคี อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ปี พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาบาเซลฯ สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ สมัยที่ 10 และ การประชุม รัฐภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ สมัยที่ 10 ปีพ.ศ. 2564 โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างแถลงการณ์ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียฯ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนด้านสารเคมีและของเสียฯ มีสาระสำคัญ เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ได้เป็นหนังสือสัญญาหรือมีผลผูกพันทางกฎหมายซึ่งเป็นไปตามมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้
1. ยืนยันมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศและเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและสารเคมีอย่างผิดกฎหมายตามกรอบระหว่างประเทศภายใต้ข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมพหุภาคีต่างๆ เช่น อนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และอนุสัญญามินามาตะฯ รวมทั้งในระดับสากลตามระบบที่ตกลงกัน เช่น ระบบจำแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมีที่สอดคล้องกันทั่วโลก ( Globally Harmonised System of Classification and Lebelling of Chemicals: GHS)
2. สนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียนให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของอนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ในการปกป้องคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากอันตรายร้ายแรงจากสารเคมีอันตรายและของเสียอันตราย
3. ร้องขอให้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ และองค์กรที่เป็นพันธมิตรอื่นๆเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพิจารณาบรรจุรายชื่อสารเคมีอันตรายจากอนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เพื่อประกันให้การปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาฯ อย่างมีประสิทธิภาพให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นภาคีและภาคีอื่น
4. สนับสนุนให้บรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกลไกการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เป็นไปเพื่อเน้นมาตรการอำนวยความสะดวกเพื่อให้มีความช่วยเหลือแก่ภาคี เพื่อการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ
5. ดำเนินการด้านการจัดการสารเคมีอันตรายและของเสียอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิต ลดการเกิดของเสียตามหลักการ 3Rs และการนำหลักการว่าด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามกรอบกฎหมาย ที่มีอยู่และนโยบายระดับชาติของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน
6. ส่งเสริมการพัฒนาแนวทางปฏิบัติ ทางด้านเทคนิค เพื่อจัดทำข้อกำหนดที่ชัดเจนในการพิจารณาความแตกต่างระหว่างขยะพลาสติกอันตรายและไม่อันตรายที่ถูกบรรจุในภาคผนวกที่แก้ไขเพิ่มเติมในภาคผนวก II ภาคผนวก VII และภาคผนวก IX ของอนุสัญญาบาเซลฯ ในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
7. ส่งเสริมการลดภัยคุกคามและผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตรายและของเสียอย่างผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ผ่านการให้สัตยาบันเร่งด่วนสำหรับข้อแก้ไขอนุสัญญาบาเซลฯ ในการห้ามการส่งออก (Basel Ban Amendment) เพื่อการกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายสารเคมีและของเสียอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนเป็นการป้องกันการนำเข้าของเสียอันตราย
8. ใช้ประโยชน์จากการวิจัยและพัฒนาทางเลือกใช้สารเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน และนวัตกรรมการผลิต ตลอดจนการผลักดันการดำเนินงานผ่านการกำหนดนโยบายการเสริมสร้างเชิงสถาบัน กฎหมาย และกรอบการกำกับดูแลด้านการจัดการสารเคมีเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในปีพ.ศ. 2573
9. เสริมสร้างความร่วมมือกับศูนย์ประสานงาน อนุสัญญาบาเซลฯ อนุสัญญารอตเตอร์ดัมฯ และอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ในภูมิภาคอาเซียน
10. ดำเนินการทำงานอย่างใกล้ชิดในระดับภูมิภาคร่วมกับภาคีอื่นที่ไม่ใช่ประเทศสมาชิกอาเซียนและองค์กรพันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่อระดมการสร้างขีดความสามารถ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การแบ่งปันข้อมูลด้านประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี และความร่วมมือทางด้านเทคนิคเพื่อให้เกิดการจัดการของเสียอันตรายและสารเคมีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสู้กับการลักลอบขนส่งอย่างผิดกฎหมายในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7618
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ