ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 14 July 2021 00:26
- Hits: 18175
ร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน กสทช. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ อว. เสนอ
3. ให้ อว. รับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
4. สำหรับการจัดตั้ง “สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ” ในระยะเริ่มแรกให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ไปพลางก่อนเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 – 3 ปี และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานอีกครั้งหนึ่ง หากมีความจำเป็นและความคุ้มค่าในการจัดตั้งสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ให้ อว. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (24 กรกฎาคม 2550) เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐ ตามความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ อว. เสนอ เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยกิจการอวกาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อวกาศ และมีสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการอวกาศอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศและความต้องการของทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศมากขึ้น รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ (New Space Economy) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแนวทางของ Thailand 4.0
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. บทนิยาม |
• กำหนดคำนิยามคำว่า เช่น “กิจการอวกาศ” “กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ” “วัตถุอวกาศ” “ขยะอวกาศ” “ผู้ดำเนินกิจการอวกาศ” “ใบอนุญาต” และ “รัฐผู้ส่ง” เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น |
|
2. กำหนดขอบเขตการใช้บังคับกฎหมาย |
• กำหนดให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่การดำเนินกิจการอวกาศได้แก่ (1) ในราชอาณาจักร (2) นอกราชอาณาจักรหรือในอวกาศโดยบุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย หรือได้จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย (3) นอกราชอาณาจักรโดยใช้พื้นที่ที่ประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือโดยใช้เรือ อากาศยาน ยานพาหนะ หรือวัตถุอวกาศซึ่งได้จดทะเบียนในประเทศไทย เว้นแต่กิจการอวกาศที่อยู่ในราชการทหารเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศหรือหน่วยงานของรัฐตามประกาศของคณะกรรมการ |
|
3. นโยบายและแผนกิจการอวกาศ |
• กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีนโยบายและแผนกิจการอวกาศตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ และเมื่อมีการประกาศนโยบายและแผนกิจการอวกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศต้องดำเนินการตามหน้าที่ และอำนาจของตนให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนดังกล่าว • กำหนดนโยบายและแผนดังกล่าวประกอบด้วยเป้าหมายและแนวทางในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการอวกาศให้เกิดประโยชน์ในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และด้านอื่น อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างยั่งยืน การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการดำเนินกิจการอวกาศของประเทศ และส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ |
|
4. คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ |
• กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญในการจัดทำนโยบายและ แผนกิจการอวกาศเสนอต่อคณะรัฐมนตรี การประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ การแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ และการกำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการของสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติและผู้อำนวยการฯ • กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และการประชุมของคณะกรรมการฯ |
|
5. องค์กรด้านอวกาศ |
• กำหนดให้มีสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายอื่น และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการฯ โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำกับ ควบคุม ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนากิจการอวกาศ ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศให้เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายและแผนกิจการอวกาศ • กำหนดให้สำนักงานมีรายได้และทรัพย์สิน ได้แก่ ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสม เงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้สำนักงาน ค่าธรรมเนียมค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้อันได้มาจากการดำเนินงานของสำนักงาน และดอกผลและผลประโยชน์หรือรายได้อื่นที่เกิดจากการดำเนินการของสำนักงาน • กำหนดให้มีผู้อำนวยการคนหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสำนักงานฯ และ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและกำหนดเหตุพ้นจากตำแหน่งของผู้อำนวยการฯ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ • กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลการดำเนินงานโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อการนี้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเรียกผู้อำนวยการมาชี้แจงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นหรือทำรายงานเสนอ และมีอำนาจสั่งยับยั้งปรับปรุงหรือแก้ไขการกระทำของสำนักงานที่เห็นว่าขัดต่อกฎหมาย หรือนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมทั้งนโยบายและแผนกิจการอวกาศ |
|
6. กิจการอวกาศ |
• กำหนดให้การดำเนินกิจกรรมอวกาศต้องได้รับใบอนุญาตตามวิธีการจากผู้อำนวยการตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติกำหนดหลักเกณฑ์ ยกเว้นเป็นการดำเนินกิจกรรมอวกาศที่ประเทศอื่นได้ทำความตกลงกับประเทศไทย และได้รับการอนุญาตหรือได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมอวกาศโดยประเทศนั้นหรือเป็นการดำเนินกิจกรรมอวกาศที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตตามที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนดตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติให้ความเห็นชอบ • กำหนดให้สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของประเทศในการจัดให้มีระบบทะเบียนวัตถุอวกาศของประเทศ และทำหน้าที่รับจดทะเบียนวัตถุอวกาศตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งทำหน้าที่แจ้งผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนวัตถุ • กำหนดให้ผู้อำนวยการฯ กำหนดมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือการประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศแก่ผู้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาการลงทุนด้านอวกาศของประเทศ |
|
7. การดำเนินการของรัฐเกี่ยวกับกิจการอวกาศ • ความรับผิดในทางระหว่างประเทศและสิทธิไล่เบี้ยของรัฐ
|
• กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องรับผิดในทางระหว่างประเทศจากความเสียหายใดๆ ต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลที่สามอันเป็นผลมาจากการดำเนินกิจกรรมอวกาศ วัตถุอวกาศหรือการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะได้รับใบอนุญาตได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตหรือไม่ก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลที่สามแล้ว ให้รัฐบาลมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้น |
|
• อุบัติเหตุและอุบัติการณ์การช่วยเหลือนักอวกาศและการส่งคืนวัตถุอวกาศ |
• กำหนดหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตดำเนินกิจกรรมอวกาศมีหน้าที่แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ต่อผู้อำนวยการฯ ในกรณีที่มีอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ที่เกิดจากกิจกรรมการอวกาศที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ • ให้ผู้อำนวยการ ฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะเพื่อดำเนินการสอบสวนอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมอวกาศ |
|
8. พนักงานเจ้าหน้าที่ |
• กำหนดหน้าที่และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ในการเข้าไปในอาคารหรือสถานประกอบการของผู้รับใบอนุญาตในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบกิจการสมุดบัญชีเอกสารหลักฐานหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกระทำใดของผู้รับใบอนุญาตที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต เพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงรายงานต่อผู้อำนวยการฯ ตลอดจนมีอำนาจออกหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ |
|
9. บทกำหนดโทษ |
• กำหนดให้ผู้ใดที่ดำเนินกิจกรรมอวกาศโดยไม่มีใบอนุญาต หรือส่งวัตถุอวกาศโดยไม่ได้จดทะเบียน หรือดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ • กำหนดให้ผู้ที่ไม่แจ้งการดำเนินกิจกรรมอวกาศต่อผู้อำนวยการ หรือผู้ดำเนินกิจกรรมอวกาศไม่ปฏิบัติตามประกาศที่คณะกรรมการกำหนด หรือผู้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอวกาศไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 100,000 บาท ในกรณีที่เป็นความผิดต่อเนื่องกันให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง • กำหนดให้ผู้ขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ในพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ |
|
10. บทเฉพาะกาล |
• กำหนดให้ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ให้คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยกรรมการตามมาตรา 8 (1) (2) (3) และวรรคสอง เพื่อปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน แต่ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ • กำหนดในระหว่างที่ยังไม่มีผู้อำนวยการสำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการฯ ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีผู้อำนวยการฯ ตามพระราชบัญญัตินี้แต่ไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ • กำหนดให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของสำนักงานนโยบายและกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงานฯ ตามความจำเป็น และให้นายกรัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐมาปฏิบัติงานเป็นพนักงานของสำนักงานฯ เป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7393
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ