การร่วมทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 23:15
- Hits: 15831
การร่วมทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมลงทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และให้ กฟผ. ลงนามสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องเมื่อผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และให้รับความเห็นหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการ
สาระสำคัญของเรื่อง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประสงค์จะเข้าร่วมลงทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำการลงทุนในธุรกิจ Startup ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเทคโนโลยีด้านพลังงาน (EnergyTech) โดยมีมูลค่าการลงทุนของ กฟผ. จำนวน 100 ล้านบาท ระยะเวลาลงทุน 6 ปี การร่วมลงทุนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกให้แก่ กฟผ. บริษัทในเครือ และบริษัทนวัตกรรมของ กฟผ. ซึ่งเข้าข่ายกิจการที่ กฟผ. มีอำนาจกระทำการได้ตามนัยมาตรา 6 (2 ทวิ) และมาตรา 9 (9) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และโดยที่มาตรา 43 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ กฟผ. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการลงทุนเพื่อขยายโครงการเดิมหรือริเริ่มโครงการใหม่ จึงต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการร่วมลงทุนดังกล่าว ในส่วนของงบประมาณดำเนินโครงการนั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้อนุมัติงบประมาณและอนุมัติแผนร่วมทุนฯ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 วงเงินลงทุนรวม 100 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีวงเงินดำเนินการ จำนวน 100 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 25 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติการร่วมลงทุนฯ แล้ว กฟผ. สามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบในส่วนของงบประมาณอีก
รายงานโครงการร่วมลงทุนของ กฟผ. มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ และเป้าหมาย การลงทุน |
ให้การสนับสนุนโครงการวิจัย/Startup ในระยะ 6 ปี เพื่อส่งเสริม พัฒนา และลงทุนในธุรกิจ Startup ที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ได้แก่ (1) BioTech, AgriTech และ FoodTech (2) MediTech และ HealthTech และ (3) Enabler Technology เช่น EnergyTech, FinTech, InsurTech, Logistic, Robotic, IndusTech และ TravelTech เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างผลตอบแทนการลงทุนกลับมาเป็น Source of Fund นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาระบบนิเวศด้านนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ของประเทศ เชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเติมเต็มช่องว่าง Innovation Ecosystem ที่ประเทศไทยยังขาดอยู่ เช่น (1) Big Data (2) กองทุนเพื่อการพัฒนา Startup (3) การขยายธุรกิจ Startup ให้ถึงระดับ Unicorn1 เป็นต้น |
สัดส่วนการร่วมทุน |
• กฟผ. จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท อินโนสเปซฯ เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1 แสนหุ้น (มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 1,000 บาท) โดยจะชำระเงินลงทุนงวดแรกร้อยละ 25 เป็นจำนวน 25 ล้านบาท ในส่วนของการชำระงวดถัดไป จะเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนตามการเรียกชำระของบริษัทอินโนสเปซฯ • ภายหลังการร่วมลงทุนของ กฟผ. จะทำให้บริษัท อินโนสเปซฯ มีทุนจดทะเบียนบริษัททั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 735.009 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จำนวน 183.752 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 25) และจะทำให้ กฟผ. มีสัดส่วนการถือหุ้น ร้อยละ 13.605 |
ผลตอบแทน และการจ่ายเงินปันผล |
คาดว่า ในระยะเวลาลงทุน 6 ปี มีความน่าจะเป็นที่จะเกิด Unicorn Startup ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป และจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการขายให้บริษัท อินโนสเปซฯ ในปีที่ 4 จำนวน 33.6 ล้านบาท/ ปีที่ 5 จำนวน 66 ล้านบาท/ และปีที่ 6 จำนวน 198 ล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัท อินโนสเปซฯ มีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่จะนำผลตอบแทนที่ได้มาบริหารจัดการเพื่อสร้างและพัฒนา Startup ต่อไป |
สิทธิ์ในการส่ง กรรมการผู้แทน |
กรรมการในคณะกรรมการการลงทุน 1 ราย และกรรมการบริษัท 1 ราย |
สิทธิ์ในการลงทุน/ ร่วมทุน |
• ได้รับสิทธิในการลงทุนใน Startup ที่ประสบความสำเร็จก่อน (First Right) • สามารถลงทุน/ร่วมลงทุนในธุรกิจประเภทเดียวกันอื่นๆ ได้ • สามารถลงทุน/ร่วมลงทุนใน Startup ซึ่งบริษัท อินโนสเปซฯ เข้าลงทุน/ร่วมลงทุนได้ • สามารถพัฒนาธุรกิจประเภทเดียวกันกับ Startup ได้ |
ประโยชน์ต่อ กฟผ. |
• กฟผ. และบริษัทในเครือมีโอกาสนำผลงานวิจัยของบริษัทอินโนสเปซฯ มาพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจพาณิชย์ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศและองค์กร โดยลดการพึ่งพานวัตกรรมจากต่างประเทศ • เสริมสร้าง Value Creation แก่บริษัทนวัตกรรมของ กฟผ. ที่จะก่อตั้งขึ้นในอนาคตในด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึกที่ตอบโจทย์ธุรกิจ และเร่งการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ • สร้างพลังร่วม (Synergy) และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนวัตกรรมกับพันธมิตร ทั้งในและนอกประเทศของบริษัท อินโนสเปซฯ เพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น |
1Unicorn Startup คือ ธุรกิจ Startup ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น Flash Group ผู้ให้บริการ e – commerce แบบครบวงจร เช่น บริการขนส่ง Flash Express ซึ่งเป็น Unicorn Startup รายแรกของไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7388
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ