ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 22:51
- Hits: 14713
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณา เรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการเชิงนโยบาย ได้แก่ 1) การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์และกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิหมุนเวียนในระดับชาติ (CE Grand Strategy and Driven Mechanism) 2) การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเพื่อการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Transforming Enterprises toward CE) 3) การสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Market Development) 4) การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Technology and Innovation Promotion) 5) การสร้างความตระหนักให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Building Awareness of CE) และ 6) การปฏิรูปการบริหารจัดการขยะทั้งระบบ (Restructuring Waste Management System)
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ อก. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
อก. เสนอว่าได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กค. กษ. ทส. พณ. พน. มท. ศธ. สธ. อว. สศช. สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยพิจารณาข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ตามข้อ 1 แล้วสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณาศึกษา |
|
1. การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์และกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชาติ (CE Grand Strategy and Driven Mechanism) 1.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน 1.2 การจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน |
• ในระยะเริ่มต้นอาจพิจารณาใช้กลไกคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ อว. เป็นฝ่ายเลขานุการและเมื่อมีความพร้อมในการดำเนินงาน จึงนำไปสู่การจัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” ในระดับชาติเป็นหน่วยงานกลางดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนา CE เป็นการเฉพาะต่อไป • ปัจจุบัน อว. ได้รับมอบหมายให้เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารฯ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ สาขา CE โดยหากมีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ควรยกระดับให้เป็น One-Stop Service ด้าน CE ของประเทศ ให้เหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) • ตลท. ดำเนินการจัดตั้งโครงการเชิงพื้นที่ Ratchada District : Care the Whale และขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่พันธมิตร เช่น นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร เป็นต้น • พน. โดย ปตท. กำหนด “กลยุทธ์ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยยึดหลัก CE” เพื่อบริหารจัดการด้านความยั่งยืน |
|
2. การส่งเสริมผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเพื่อการปรับเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Transforming Enterprises toward CE) 2.1 การกำหนดมาตรการหรือกลไกที่เป็นตัวเงิน 2.2 การกำหนดมาตรการหรือกลไกสนับสนุนอื่นที่ไม่เป็นตัวเงิน 2.3 การแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนา |
• ภาครัฐควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการสร้างนวัตกรรม CE Lab ในแต่ละอุตสาหกรรม และบูรณาการหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการ CE ของต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการทำงานร่วมกับภาคสังคม (Social Enterprise) ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และจัดทำระบบ Self-Assessment มาใช้ให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ • การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่ CE ได้อย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ควรมีการจัดทำระบบการติดตามการปรับเปลี่ยนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เช่น ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น • อก. มีการรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ผลักดันการออกกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการประกอบการ และสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการตามแนวคิด CE ผ่านกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ รวมทั้งจัดทำระบบการประเมินประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้หลักการ CE ในองค์กร และพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ • พณ. มีการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม เช่น โครงการ DEWA/DEWI โครงการ Circular Packaging โครงการ Design Excellence Award (DEMark) เป็นต้น • สสว. ดำเนินโครงการ SME Regular Level โครงการพันธมิตรสร้างแบรนด์และธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในการแข่งขัน โครงการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ โดยกำหนดกลุ่มธุรกิจที่มีการนำแนวคิด CE ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลัก • พน. โดย ปตท. กำหนด “แบบฟอร์มประเมินระดับการประยุกต์ใช้หลัก CE” และการจัดทำโครงการตามหลัก CE เช่น การจัดตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงมาตรฐานสากล เป็นต้น |
|
3. การสร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Market Development) |
• ควรส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้าน CE ผลักดันมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าและบริการที่คำนึงถึง CE เสริมสร้างกระบวนการที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าหรือบริการที่เลือกใช้นั้น มาจากสินค้าหรือบริการที่คำนึงถึงระบบ CE อย่างแท้จริง ตลอดจนสนับสนุนการเปิดหรือขยายตลาดสินค้าและบริการ CE สู่ต่างประเทศ • อก. มีการสร้างและพัฒนาแผน/โครงการ การรับรอง จัดทำมาตรฐานระบบการจัดการ CE ในองค์กร การจัดทำโครงการ CE Standard Platform : Thailand ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดทำมาตรฐาน CE สำหรับผลิตภัณฑ์ • พณ. มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าและใช้บรรจุภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ • พน. โดย ปตท. มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ตามแนวคิด CE การต่อยอดโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand เพื่อนำขยะพลาสติกมาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่น และการออกประกาศคู่มือเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
|
4. การส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Technology and Innovation Promotion) |
• ควรดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น สนับสนุนเงินทุนที่มีความคล่องตัว บูรณาการการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม สร้างนวัตกรรมที่เป็น Tokenization ที่คิดมูลค่าความยั่งยืนที่เกิดบน CE เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนให้มีการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น • อก. มีการส่งเสริมและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อเป็นวัตถุดิบทดแทนสำหรับภาคอุตสาหกรรม และส่งเสริมการออกแบบตามหลักการ CE เพื่อการใช้ทรัพยากรแร่และโลหะอย่างยั่งยืน • พน. ดำเนินการพัฒนาของเสียไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น การนำ Waste Polymer กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตสำหรับใช้ในการผลิตกล่องนาฬิกาแบรนด์เนมชั้นนำของโลก การพัฒนาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก HDPE มาผลิตเป็นทุ่นลอยน้ำสำหรับใช้กับแผงโซลาร์เซลล์ที่ปราศจากสารพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น • กษ. จัดทำแนวทางการขับเคลื่อน BCG Model ภาคการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับผลผลิตเกษตรสู่มาตรฐานสูง ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ โภชนาการ ความปลอดภัย และระบบการผลิตที่ยั่งยืน รวมทั้งวิเคราะห์การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง โดยใช้ฐานข้อมูลภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม |
|
5. การสร้างความตระหนักให้สาธารณชนเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Building Public Awareness of CE) |
• ควรดำเนินการจัดทำหลักสูตรเพิ่มเติมในการศึกษาขั้นพื้นฐานและส่งเสริมให้โรงเรียน/สถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อน CE เพื่อให้เกิด CE Learning ตลอดจนส่งเสริมให้เกิด Awareness ในภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค • อก. ได้สร้างองค์ความรู้ด้าน Circular Economy ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล และการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านแร่ โลหะ และรีไซเคิลผ่านช่องทางออนไลน์ (e-Learning) • พณ. ได้ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA ในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับ CE และขอความร่วมมือผู้ประกอบการห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ลดการใช้วัสดุที่ผลิตจากพลาสติก ถุงพลาสติก และโฟมบรรจุอาหาร • พน. โดย ปตท. ดำเนินการจัดงานประชุมระดับโลก GC Circular Living Symposium 2020 : Tomorrow Together และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะให้กับชุมชนเพื่อลดปริมาณขยะในชุมชนและสามารถต่อยอดเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้เพิ่มขึ้น |
|
6. การปฏิรูปการบริหารจัดการขยะทั้งระบบ (Restructuring Waste Management System) |
• หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มท. ทส. สธ. และ อปท. เป็นต้น ได้ดำเนินการปรับปรุงการบริหารจัดการขยะ 4 ด้านหลัก ได้แก่ การคัดแยกและขนส่ง การบริหารจัดการ การสร้างความตระหนักของสาธารณชน และการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างระบบ CE และนำไปสู่ Zero waste ในกลุ่มจังหวัดนำร่องอย่างเป็นรูปธรรม แล้วจึงขยายผลสู่กลุ่มจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการบริหารจัดการขยะหรือของเสียให้เป็นวัตถุดิบรอบสองที่ชัดเจนแนวทางจัดการขยะพลาสติกที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ • มท. ได้กำหนดแนวทางการคัดแยกขยะตั้งแต่จุดกำเนิดขยะและการขนส่งขยะที่เหมาะสม โดยจัดทำแผนปฏิบัติการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” และแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” บูรณาการการจัดการขยะในระดับประเทศและจังหวัดอย่างเป็นระบบ และส่งเสริมและผลักดันการแปลงขยะที่ไม่สามารถผ่านกระบวนการ recycling หรือ upcycling ไปเป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งปรับปรุงและออกกฎระเบียบในการจัดการมูลฝอย • อก. มีการพัฒนาระบบติดตามการขนส่งกากอุตสาหกรรมอันตราย และการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ • ตลท. ได้พัฒนาโครงการ Ratchada District Care the Whale เป็น Climate Care Platform เพื่อให้เกิด CE จาก Waste Management ได้อย่างครบวงจร • พน. โดย ปตท. ดำเนินการร่วมทุนในการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงมาตรฐานสากล และหาแนวทางนำขยะพลาสติกจากร้านคาเฟ่อเมซอนไปใช้ประโยชน์ผลิตเป็นแก้ว Tumbler Upcycling |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7386
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ