สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 9/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 13 July 2021 22:31
- Hits: 14757
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 9/2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ครั้งที่ 9/2564 วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2564 ตามที่สำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 เสนอ ดังนี้
1. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อโรคโควิด - 19 ดังนี้
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก ณ วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมทั้งสิ้น186,293,113 ราย โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด 3 ลำดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล ในส่วนของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 62 จาก 218 ประเทศทั่วโลก
2) สถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เดือนเมษายน 2564 ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 เมษายน - 9 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม จำนวน 288,643 ราย (ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ จำนวน 1,786 คน ติดเชื้อในประเทศ จำนวน 249,110 คน และติดเชื้อในเรือนจำและที่ต้องขัง จำนวน 37,747 คน)
2. ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 13 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
3. การยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด – 19 และการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร การยกระดับมาตรการของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีแนวความคิด คือ “จำกัดการเคลื่อนย้ายและการรวมกลุ่มของบุคคลขั้นสูงสุด รวมทั้งกำหนดเวลาการออกนอกเคหสถานควบคู่ไปกับการเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้ง การเยียวยา” โดยมีข้อเสนอมาตรการ ดังนี้
1) การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร แบ่งเป็น พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จำนวน 10 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 24 จังหวัด พื้นที่ควบคุม จำนวน 25 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง จำนวน 18 จังหวัด ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
ระดับพื้นที่ |
จังหวัด |
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด (คงเดิม) |
กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา |
พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 19 จังหวัด) |
กระบี่ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี |
พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด |
กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตราด บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี |
พื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด (ลดลง 39 จังหวัด) |
เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ลำปาง ลำพูน สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ |
2) การห้ามออกนอกเคหะสถาน ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น
3) มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล
(1) จำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด ดังนี้
- กำหนดให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนใช้การปฏิบัติงานในลักษณะทำงานนอกสถานที่ (Work from home) ให้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่สำคัญ และการบริการประชาชน
- ระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ให้ปิดเวลา 20.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
- ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดบริการได้ถึง 20.00 น. โดยเปิดได้เฉพาะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคารและสถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน
- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดบริการได้ถึง 20.00 น. โดยห้ามบริโภคอาหารหรือสุราหรือเครื่องดื่มในร้าน
- ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม เป็นต้น
- สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา หรือที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้บริการสำหรับการออกกำลังกายได้ถึงเวลา 20.00 น.
- ห้ามการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม ที่ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ การประกอบอาชีพ กิจกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณี ที่มีการรวมตัวกันของบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
- ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
- สถานศึกษาใช้การเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
(2) การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่ได้มีประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้
(3) กำกับดูแลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (D-M-H-T-T-A) อย่างสูงสุด
(4) ให้เริ่มดำเนินการตามข้อ (1) - (3) ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่างๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 24 ฉบับที่ 25 และฉบับที่ 26) มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
4) การเดินทางข้ามจังหวัด ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัดในช่วงระยะเวลานี้โดยไม่มีเหตุจำเป็น และให้หน่วยงานด้านความมั่นคงเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองการเดินทางจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด และชุดลาดตระเวน เพื่อกำกับดูแลการปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ทั้งนี้ กรณีตรวจพบผู้ฝ่าฝืนให้บังคับใช้บทลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
5) มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดมาตรการสนับสนุน ดังนี้
(1) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล เร่งจัดให้มีการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงระบบการตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ โดยพิจารณาใช้ชุดอุปกรณ์ Rapid Test ที่มีคุณภาพอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
(2) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการนำระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation: CI) รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรบัญชียาหลัก เช่น ยาฟ้าทะลายโจร เป็นต้น มาเสริมมาตรการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อทดแทนการขาดแคลนเตียงพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ
(3) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการจัดตั้งหน่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยขั้นวิกฤต (Intensive Care Unit: ICU) สนาม และโรงพยาบาลสนาม รวมถึงโรงพยาบาลสนามชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และมีจำนวนมากพอ
(4) กระทรวงสาธารณสุขปรับแผนการกระจายวัคซีน และเร่งการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวและโรคเรื้อรัง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งเร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
(5) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ในการป้องกันส่วนบุคคล การตรวจหาเชื้อ และการรักษาพยาบาลให้มีประสิทธิภาพ
6) ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบศ.) เร่งรัดกำหนดมาตรการเยียวยาสถานประกอบการหรือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดมาตรการในครั้งนี้ ตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่
7) การปฏิบัติในจังหวัดอื่น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดมาตรการสนับสนุน ดังนี้
(1) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกันรับผิดชอบในการกำหนดมาตรการคัดกรองและมาตรการติดตามสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งนี้ ให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป โดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 25
(2) ให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ระดับสถานการณ์ต่างๆ ข้อความ และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 24 ฉบับที่ 25 และฉบับที่ 26) มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้
8) การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนดฯ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) เว้นแต่จะได้มีการประเมินความเหมาะสมของสถานการณ์ต่อไป
ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้
1) มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19
(1) ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามมาตรการยกระดับการป้องกันและควบคุมโรคโควิด - 19 อย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการและเจ้าของพื้นที่ที่ประชาชนปฏิบัติงานและรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนตระหนักและร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างจริงจัง
(2) ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการต่างๆ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ตลาดสด มีการบังคับใช้ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นสถานที่เสี่ยงการติดเชื้อมากที่สุด โดยขอให้มีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนน้อยที่สุด
(3) เตรียมการรองรับกิจกรรมอื่นๆ ในช่วงการยกระดับมาตรการฯ 14 วัน เช่น การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว หรือประเพณีการจัดงานศพ เป็นต้น
(4) ควรเร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการและจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันให้มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะความคาดหวังในช่วงการประกาศมาตรการการยกระดับฯ ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงทันที แต่จะปรากฏผลในช่วงภายหลัง 2 สัปดาห์
(5) ควรมีการกำหนดมาตรการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 ข้อมูลบิดเบือน หรือข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ให้สอดคล้องกับมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
(6) สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทยได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำยาแพทย์แผนไทยและทางเลือกและการรับรองบทบาทหน้าที่ของแพทย์แผนไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับแพทย์แผนไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำแพทย์แผนไทยมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด – 19 ที่จัดอยู่ในกลุ่มอาการสีเหลือง อย่างไรก็ตาม ในหลักปฏิบัติแพทย์แผนไทยยังไม่มีการรองรับในการให้การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด - 19 ควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบันที่ชัดเจน จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณารับรองสถานะของแพทย์แผนไทยในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 ร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน และให้พิจารณาใช้คำศัพท์ที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่ายินดีสนับสนุนข้อมูลของต่างประเทศที่เกี่ยวกับการนำการแพทย์แผนไทยมาใช้ในการรักษาโรคโควิด - 19
2) มาตรการด้านการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด - 19
(1) เพื่อลดความแออัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ควรให้มีการใช้ชุดทดสอบไวรัสโควิด 19 แบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) ร่วมกับการตรวจแบบ Polymerase chain reaction (RT-PCR) โดยกระทรวงสาธารณสุขเสนอแนวทางการกระจายชุดตรวจผ่านคลินิกสุขภาพกรุงเทพมหานคร และร้านขายยา ซึ่งได้มีการวางแนวทางส่งต่อผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) ผ่านเครือข่ายคลินิกสุขภาพกรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนของการกระจายชุดตรวจผ่านร้านขายยายังอยู่ในระหว่างการพิจารณาหาแนวทางเชื่อมต่อผู้ที่ตรวจพบเชื้อเข้ากับระบบการรักษา อย่างไรก็ดี
การใช้ชุดทดสอบไวรัสโควิด - 19 แบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) ยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการโดยเฉพาะความคลาดเคลื่อนของผลตรวจและความเข้าใจของผู้ใช้ชุดเครื่องมือ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาแนวทางอย่างรอบคอบ ตลอดจนให้คำแนะนำและให้ข้อมูลเพื่อประกอบการใช้งานอย่างใกล้ชิด กำหนดวงรอบการตรวจซ้ำ และจัดเตรียมระบบส่งต่อผู้ติดเชื้อไม่ให้มีการกระจุกตัวจนเกิดข้อจำกัดของการรักษาพยาบาล รวมทั้งพิจารณาการใช้ชุดทดสอบไวรัสโควิด - 19 แบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นลำดับแรก
(2) กรณี Phuket Sandbox พิจารณาข้อเสนอเรื่องนำชุดทดสอบไวรัสโควิด 19 แบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) มาใช้กับกลุ่มคนไทย หรือคนต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพื่อประกอบการอนุญาตเข้าพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
(3) กระทรวงแรงงานแจ้งว่าต้องการเพิ่มการตรวจคัดกรองแรงงานในแคมป์ (ที่พักคนงาน) เนื่องจากในปัจจุบันสามารถตรวจหาผู้ป่วยในแคมป์ได้เพียงร้อยละ 75 ของจำนวนแรงงานในแคมป์
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ประสานไปยังโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมไว้พร้อมรองรับผู้ป่วย ประมาณ 3,000 เตียง ในการนี้ อธิบดีกรมควบคุมโรคได้ขอให้กระทรวงแรงงานประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดเพื่อหาทางแนวทางเพิ่มจุดตรวจและส่งต่อการรักษาแรงงานให้สอดคล้องกับมาตรการในระดับพื้นที่
3) มาตรการคัดแยกและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา (Isolation)
ควรปรับระบบบริการรักษาพยาบาลด้วยการนำระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation: CI) มาช่วยสนับสนุน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขมีศักยภาพสามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยตามสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ตลอดจนลดความแออัดของผู้ใช้บริการตรวจคัดกรองและการรักษาพยาบาล
4) มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด - 19
ควรให้มีการพิจารณาขยายกลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากผลกระทบของการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด - 19 ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอในการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด - 19 การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณา
4. แผนการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19
1) สรุปผลการฉีดวัคซีนโควิด - 19 มีผู้ได้รับวัคซีนรายใหม่ ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 จำนวน 356,378 ราย จำแนกเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 305,925 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 50,453 ราย โดยมีจำนวนยอดสะสมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 8 ก.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 11,975,996 ราย จำแนกเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 8,800,155 ราย และผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 3,175,841 ราย
2) การปรับแผนการฉีดวัคซีนโควิดป้องกันโรคโควิด - 19 กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในพื้นที่ระบาดรุนแรง ผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 75 เป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงต้องระดมสรรพกำลังการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในพื้นที่ระบาดรุนแรง โดยกำหนดเป้าหมายการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000,000 คน ในกรุงเทพมหานคร ภายใน 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมวัคซีนกลุ่มนี้เป็นร้อยละ 80 รวมทั้งสำรองวัคซีนบางส่วนเพื่อใช้ควบคุมการระบาดในพื้นที่กรุงเทพเทพมหานคร และปริมณฑล (กลยุทธ์ขนมครก)
3) ข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการวัคซีนบริจาคจากต่างประเทศ แบ่งเป็น วัคซีน Pfizer จำนวน 1,500,000 โดส และวัคซีน AstraZeneca จำนวน 1,050,000 โดส ดังนี้
ประเด็น |
วัคซีน Pfizer |
วัคซีน AstraZeneca |
|
กลุ่มเป้าหมาย |
1. บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด - 19 ทั่วประเทศ (ฉีดเป็น Booster dose จำนวน 1 เข็ม) 2. ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง 3. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง 4. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน Pfizer ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียนนักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น |
1. ผู้สูงอายุและผู้มีโรคเรื้อรัง 7 โรค 2. ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย โดยเน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง 3. ผู้ที่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน AstraZeneca ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา นักการทูต เป็นต้น |
|
การกระจาย |
สำหรับฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 3 สัปดาห์ (ยกเว้นกรณีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า Booster dose 1 เข็ม) - สัญชาติไทย 1,350,000 โดส - ต่างชาติ 150,000 โดส (ร้อยละ 10) |
สำหรับฉีดเป็นเข็มที่ 1 - สัญชาติไทย 945,000 โดส - ต่างชาติ 105,000 โดส (ร้อยละ 10) |
|
พื้นที่เป้าหมาย (พื้นที่ระบาดท่องเที่ยว) |
- กรุงเทพมหานคร - สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม - ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา |
- กรุงเทพมหานคร - สมุทรสาคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี นครปฐม - ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต |
|
การดำเนินงาน ฉีดวัคซีน |
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครบริหารจัดการผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่กรณีชาวต่างชาติให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานหลัก |
ทั้งนี้ การบริหารจัดการวัคซีนบริจาคสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด - 19
ที่ประชุมมีความเห็น ควรดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ควบคู่กับการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และมีความเสี่ยงสูง
ที่ประชุมมีมติ ดังนี้
1) เห็นชอบการปรับแผนการจัดสรรวัคซีนโควิด - 19 เดือนกรกฎาคม 2564 โดยให้ครอบคลุมผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ในกรุงเทพมหานครอย่างน้อยร้อยละ 80
2) ให้ระดมสรรพกำลังการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครเป็นกลุ่มเป้าหมายแรก จำนวน 1,000,000 โดส ภายใน 1 - 2 สัปดาห์
3) เห็นชอบแนวทางการจัดสรรและบริหารจัดการวัคซีนบริจาคจากต่างประเทศ
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) ร่วมกับคณาจารย์ทางการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณารายละเอียดของชุดทดสอบไวรัสโควิด - 19 แบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) ให้มีคุณภาพและตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาใช้ในการตรวจหาเชื้อในชุมชนหรือพื้นที่อื่นๆ เช่น จังหวัดภูเก็ต เกาะสมุย เป็นต้น โดยให้มีการระบุหลักเกณฑ์และวิธีการใช้งาน วงรอบระยะเวลาการตรวจซ้ำ รวมทั้งการใช้ชุดตรวจในสถานประกอบการภาคเอกชน การเชื่อมโยงกับกระบวนการตรวจคัดกรอง และการเข้ารับการรักษาให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับร่วมกันของ ทุกฝ่าย ทั้งนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมดำเนินการพิจารณาการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ และบุคลากร เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่มาก โดยให้เร่งรัดนำระบบการแยกกักแบบการแยกกันที่บ้าน (Home Isolation: HI) และการแยกกักในชุมชน (Community Isolation: CI) ให้เหมาะสม เพียงพอ และให้ความรู้เกี่ยวกับการกักตัวในบ้านหรือในชุมชน รวมทั้งให้พิจารณาความเหมาะสม และกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เช่น ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น เข้ามามีส่วนช่วยรักษาโรคโควิด - 19 โดยกระทรวงการต่างประเทศ ยินดีสนับสนุนข้อมูลการนำการแพทย์แผนไทยไปใช้ในการรักษาโรคโควิด – 19 ในต่างประเทศ
3. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตรวจสอบคัดกรองการตรวจหาเชื้อ โดยจัดตั้งศูนย์คัดกรองในพื้นที่และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบและสามารถเข้าถึงจุดคัดกรองได้ จัดระบบบริหารจัดการการนำส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา และเร่งจัดตั้งหน่วยรักษาพยาบาลผู้ป่วยขั้นวิกฤต (Intensive Care Unit: ICU) สนาม และโรงพยาบาลสนาม รวมถึงโรงพยาบาลสนามชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้แล้วเสร็จโดยเร็วและมีจำนวนที่มากพอ รวมทั้งจัดหาเตียง อุปกรณ์เสริม เวชภัณฑ์ ยา และระดมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากผู้ที่เกษียณอายุ และนักศึกษาแพทย์ ตลอดจนให้ทบทวนและปรับกระบวนการตรวจคัดกรอง คัดแยก การกักตัว การนำส่งการรักษา และการฉีดวัคซีนให้มีความประสานสอดคล้องและเชื่อมโยงกันทั้งระบบครบวงจร
4. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) หารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการปรับแผนบริหารจัดการกระจายวัคซีนที่เหมาะสม ทั่วถึง และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ ทั้งนี้ ให้เร่งรัดฉีดให้แก่กลุ่มเป้าหมายและในพื้นที่การแพร่ระบาดที่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
5. ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) : ศบศ.) สำนักงบประมาณ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการร่วมกันพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาสถานประกอบการหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด - 19 ตามความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ โดยขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม รวมทั้งให้มีการรวบรวมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนไปแล้วด้วย
6. ให้กระทรวงมหาดไทย (จังหวัด) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด) ร่วมรับผิดชอบในการกำหนดมาตรการคัดกรองและมาตรการติดตามสำหรับบุคคลที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่เดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ทั้งนี้ ให้พร้อมดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป
7. ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการกำกับดูแลการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด - 19 และระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ตลาดสด เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนให้ดูแลการบังคับการให้เป็นไปตามมาตรการฯ ด้วย ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเตรียมการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณสินค้าและระบบโลจิสติกส์ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชน
8. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการกำกับ ดูแล ตรวจสอบการนำเสนอข่าวปลอม (Fake News) และดำเนินการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด
9. ให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการสำรวจแรงงานต่างด้าวและนำมาขึ้นทะเบียน รวมทั้งให้บูรณาการการทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ดำเนินการสนธิกำลังในการตั้งด่านตรวจด่านสกัด เพื่อตรวจสอบและสกัดกั้นการหลบหนีเข้าเมือง ทำลายขบวนการลักลอบนำคนเข้าประเทศ และดำเนินการมาตรการทางกฎหมายกับโรงงานหรือผู้ประกอบการที่นำแรงงานมาปล่อยทิ้งนอกโรงงานหรือสถานประกอบการ
10. ให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 (ศปก.สธ.) สร้างความเข้าใจกับแรงงานและผู้ประกอบการในการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง การแยกกัก การรักษาโรค การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และการตรวจหาภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อประเมินสถานการณ์ สำหรับกลุ่มที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะต้องตรวจหาเชื้ออีกครั้งเมื่อครบ 28 วัน หลังการทำ Bubble and Seal ทั้งนี้ ให้มีการจัดทำคู่มือที่เหมาะสมตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง กักกัน มาตรการ Bubble and Seal และการป้องกัน/รักษาโรคโควิด - 19 เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ
11. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด – 19 (ศปก.สธ.) และโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้ทราบ ดังนี้
1) การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่สถานการณ์มีความซับซ้อนซึ่งรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) บูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนและมาตรฐานการปฏิบัติในการควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อรักษาความปลอดภัย และให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด รวมทั้งความพร้อมและการทำงานไปข้างหน้าของรัฐบาลทั้งในเรื่องการจัดหาจำนวนเตียง การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงชุดตรวจ/ทดสอบหาเชื้อให้ได้อย่างรวดเร็ว การดำเนินการเรื่องวัคซีน และการพัฒนายาใหม่ๆ รวมถึงการนำสมุนไพรมาช่วยสนับสนุนในการป้องกันและรักษาโรคโควิด - 19
2) เหตุผลความจำเป็นและเตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ และขอให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 และดำเนินการตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเคร่งครัด
3) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ทั่วโลก สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน โดยให้ข้อมูลสถานการณ์ของแต่ละประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต และมาตรการที่ประเทศต่างๆ ใช้ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด -19 โดยให้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นประจำและต่อเนื่อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 กรกฎาคม 2564
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A7383
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ